เรียนรู้เอชไอเอ ผ่านกรณีศึกษาโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ

 
 เครือข่ายนักวิชาการเอชไอเอ (HIA Consortium)  ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมเวทีเรียนรู้เอชไอเอผ่านกรณีศึกษา (HIA Case Conference)
โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน อ่าวไทย ที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช  จัดในวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2555 เวลา 08.30 – 17.00 น. ณ ห้องประชุมสานใจ 1  ขั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ ภายในกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
 

   ร่างอีเอชไอเอโครงการท่าเรือน้ำลึกของบริษัทเชฟรอน ระบุว่า พื้นที่ บ.บางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญจำเพาะทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ประกอบกับสภาพการใช้ที่ดินในพื้นที่โครงการและใกล้เคียงส่วนใหญ่เป็นสวนมะพร้าว มีชุมชนอาศัยอยู่น้อย ดังนั้นจึงมีความเหมาะสมในการสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งมีการใช้สารกัมมันตภาพรังสีที่แท่นขุดเจาะด้วย โดยศูนย์แห่งใหม่นี้จะควบรวมการปฏิบัติงานของศูนย์สนับสนุนฯ เดิมที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และสงขลามาไว้ด้วยกัน
 
   ตรงกับข้ามกับข้อมูลเอชไอเอชุมชนของเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ที่พบว่าพื้นที่นี้คืออ่าวทองคำ ซึ่งมีระบบนิเวศน์เฉพาะ คือ มีลม 8 ทิศ มีแม่น้ำสายสั้นที่เกิดจากเทือกเขาหลวงสู่ปากน้ำอ่าวสิชล-ท่าศาลา จนทำให้เกิด “ดอน” หรือสันเขาในทะเลซึ่งมีทั้งโลมาและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจนับ 100 ชนิด ทำเงินให้แต่ละชุมชนชายฝั่งนับ 100 ล้านบาทต่อปี สร้างการจ้างงานเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ทะเลกว่า 5,000 คน ชาวประมงจากจังหวัดใกล้เคียงเช่นสตูล สงขลา ขนเรือใส่รถมาหากินในช่วงที่สัตว์ทะเลขึ้น หรือแม้กระทั่งเรือประมงพาณิชย์จากสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ก็แล่นมาจับสัตว์น้ำในอ่าวนี้ เกิดสายพานเศรษฐกิจตั้งแต่แพปลารายย่อยไปจนถึงธุรกิจสัตว์ทะเลส่งออก โดยเฉพาะ “กั้ง” ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของที่นี่เพราะเพียง 1 ลำเรือเล็กในช่วงฤดูมรสุมขายกั้งหน้าท่าได้วันละกว่า 20,000 บาท ส่งทางเครื่องบิน กระจายไปยังกรุงเทพ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน และอีกหลายประเทศทั่วโลก หากต้นกำเนิดของสายพานการผลิตอาหารถูกทำลาย... ย่อมหมายถึงอีกกว่าหลายหมื่นชีวิตที่จะเสียหายตามไปด้วย
 
   เสาของท่าเรือจะถูกตอกลงที่ใจกลางของดอน รวมถึงการขุดลอกร่องน้ำเพื่อเปิดเส้นทางให้เรือเทียบท่าได้ ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านบอกว่าจะทำให้ดอนล่ม ดังนั้นในวันที่เริ่มขุด เจาะ ตอก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนับถอยหลังสู่การเป็นทะเลร้าง ไร้สัตว์น้ำให้หากิน ไม่ต่างอะไรกับการที่ทะเลถูกฆ่า อาชีพชาวประมงถูกทำลาย วิถีชีวิต วัฒนธรรม ครอบครัว ล่มสลาย อนาคตของพื้นที่นี้จะเป็นอย่างไร จะเหลืออะไรไว้ให้คนรุ่นหน้า แต่ในทางกลับกันหากปกป้องพื้นที่ “อ่าวทองคำ” นี้ไว้ อาจหมายถึงการมีกินชั่วลูกหลานและรักษาจิตวิญญาณของอาชีพชาวเรือไว้ ดำรงการเป็นเศรษฐกิจที่มั่งคั่งและยั่งยืน
 
   ครั้งนี้นับเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะมีผลต่ออนาคตของคนนับพันนับหมื่นที่ฝากชีวิตไว้กับอ่าวท่าศาลา และ อีเอชไอเอ ก็เป็นข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจนี้ ดังนั้นการพิจารณาจึงไม่ใช่เพียงแค่ว่าเราจะเลือก มาตรการลดผลกระทบ หรือชดเชย เยียวยา ใคร อย่างไร หากแต่ต้องขยายมุมมองให้กว้างออกไปว่าคือการเลือกอนาคตของพื้นที่นี้ว่าต้องการจะเป็นเช่นไร “แหล่งผลิตอาหารหรือฐานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ?”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140