ศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจชุมชนคลองเตย ตัวอย่างพลังพลเมืองที่ตื่นรู้กับการจัดระบบควบคุม ป้องกันโรคในชุมชน

   สวัสดีครับเพื่อนภาคีเครือข่ายทุกท่าน สถานการณ์โควิด-19 ระลอกสามในเดือนเมษายน และพฤษภาคมนี้ ยังคงน่าวิตกอย่างยิ่ง ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันมากกว่า ๑,๕๐๐ คนตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน และทะลุ ๒,๐๐๐ คนต่อเนื่องหลายวัน สูงสุดถึง ๒,๘๓๙ คนในวันที่ ๒๔ เมษายน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ และเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ ต่อเนื่องมาถึงวันที่ ๒ มีผู้ป่วยเสียชีวิตตกวันละ ๒๑ คน ตามด้วยวันที่ ๓ เพิ่มขึ้นเป็น ๓๑ คน นับเป็นสถิติสูงสุดของไทย จากเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษที่นักวิชาการว่าข้ามมาจากกัมพูชาทางชายแดนด้านตะวันออก ขณะที่สายพันธุ์อินเดียที่ระบาดหนักมากกำลังจ่อชายแดนตะวันตกของไทยด้านเมียนมา และมีข่าวว่าที่มาเลเซียเพื่อนบ้านทางใต้พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อาฟริกาใต้จำนวนมากและมีโอกาสมากที่จะทะลุเข้าไทยทางจังหวัดภาคใต้ ทั้งสามสายพันธุ์ใหม่นี้มีผลต่อประสิทธิผลของวัคซีนทุกยี่ห้อที่ใช้เป็นอาวุธสำคัญสุดของโลกและเป็นปัญหาใหญ่ของไทยในการจัดหาให้พอและทันกาลในขณะนี้
 
   การระบาดของโควิด-19 ระลอกสามนี้ ถือเป็นวิกฤตใหญ่ที่กระทบประชาชนทุกกลุ่มมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลาง คนยากจน และกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เพราะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ประเทศชาติมีวิกฤตซ้อนวิกฤต มีข้อจำกัดการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต ทำให้ทั้งปริมาณผู้ติดเชื้อ ความรุนแรงของโรค อัตราการเสียชีวิต และผลกระทบในการดำเนินชีวิต เพิ่มสูงขึ้นในทุกมิติ การระบาดระลอกสามนี้ มาตรการควบคุมโรคที่เป็นจุดแข็งของระบบสาธารณสุขไทย อาจไม่ใช่คำตอบสำคัญที่สุด เพราะทั่วโลกได้ขยับจากการ “ควบคุมโรค” เปลี่ยนไปสู่การ “ป้องกันโรค” ด้วยการให้วัคซีนแก่ประชาชนให้ครอบคลุมมากที่สุดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ทว่าในประเทศไทยขณะนี้ยังมีปัญหาการรอคอยวัคซีนที่แม้จะเริ่มให้กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นคนแรกได้ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่จนถึงกระนี้ยังฉีดครอบคลุมคนไทยได้น้อยมาก และยังต้องรอวัคซีนล๊อทใหญ่ที่คาดหวังว่าจะมาและเริ่มฉีดได้ในเดือนมิถุนายน นี้
 
    สถานการณ์ขณะนี้ระบบสาธารณสุขไทยต้องรับภาระหนัก จนใกล้ถึงขีดเกินความสามารถที่ระบบจะแบกรับไหว โดยเฉพาะเตียงและเครืองมือไอซียูสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักกำลังขาดแคลน นำมาสู่ความโกลาหล ความตื่นตระหนกของประชาชน แม้รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาด้วยการขยายเตียงในโรงพยาบาลสนาม และมีแนวคิดที่จะให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังไม่มีอาการ หรือที่ผ่านการรักษาในโรงพยาบาลจนอาการดีขึ้นให้กลับไปพักกักตัวที่บ้านพัก หรือที่เรียกว่า Home Isolation ซึ่งอาจไม่เหมาะกับสภาพการพักอาศัยและความพร้อมของประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะในชุมชนแออัดของเมืองใหญ่ที่แต่ละครอบครัวพักอาศัยรวมกันในบ้านที่คับแคบ และหลายบ้านสร้างอยู่ติดกันอย่างแออัด
 
   เพื่อนภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ ภายใต้วิกฤตยังมีโอกาส เมื่อภาคีเครือข่ายในหลายพื้นที่ได้ตั้งวงพูดคุยและสร้าง “ตัวอย่างการจัดระบบควบคุมและป้องกันโรคโดยชุมชน” ด้วยเชื่อว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ชุมชนจะใช้พลังของตนในการสนับสนุนมาตรการของรัฐ และช่วยดูแลประชาชนด้วยกันเองให้ปลอดภัยและผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้กได้อย่างตรงจุด
 
   ตัวอย่างเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายนที่ผ่านมานี้ ประชาชนได้เปิด “ศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ ชุมชนคลองเตย” เป็นแห่งแรกในกรุงเทพฯ โดยปรับแนวคิดจาก Home Isolation เป็น Community isolation ด้วยการใช้พื้นที่ “วัดสะพาน” เป็นที่ตั้งศูนย์พักคอย และบริหารจัดการดูแลโดยคณะกรรมการของชุมชนที่มีเจ้าอาวาสวัดสะพานเป็นประธาน ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแยกตัวผู้ติดเชื้อรายใหม่ออกจากสมาชิกในบ้านพัก และให้การดูแลเบื้องต้น รอการจัดหาเตียงและส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลสนามหรือ โรงพยาบาลหลักในพื้นที่
 
   จากวิกฤตที่ประชาชนกลุ่มเปราะบางประสบ และจากประสบการณ์ของชุมชนคลองเตย ทำให้เห็นความหวังที่จะขยายไปยังพื้นที่ชุมชนแออัดอื่นๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งขยายไปยังจังหวัดต่างๆ ซึ่งเพื่อนภาคีเครือข่ายสามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อรับมือวิกฤตโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
   ในส่วนของ “นิตยสารสานพลัง” ฉบับเดือนพฤษภาคมนี้ ผมตั้งใจจะพูดถึงความก้าวหน้าเรื่อง “หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ ๓” หรือ “HIA ฉบับ ๓” ซึ่งขณะนี้คณะทำงานวิชาการได้ยกร่างแรกเสร็จแล้ว พร้อมเข้าสู่การรับฟังความเห็นของภาคส่วนต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือมางวิชาการสนับสนุนการจัดทำนโยบายหรือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน หรือโครงการย่อยในพื้นที่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เกิดและดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ ลดการเผชิญหน้า เกิดเป็นความสมดุลระหว่างการพัฒนากับการคุ้มครองสิทธิประชาชนอย่างยั่งยืน
 
   สำหรับบทบาทของ สช. นอกจากกำลังจัดทำ “HIA ฉบับ ๓” ตามที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติเอาไว้แล้ว สช.ยังให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายสถาบันวิชาการ (HIA Consortium) เพื่อสนับสนุนการผลิตบุคลากรและพัฒนางานวิชาการในด้านนี้ รวมทั้งมีแผนจะร่วมกันจัดเวทีวิชาการระดับชาติ (HIA Forum) เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นครับ
 

ด้วยรักและศรัทธาครับ...นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ