สานพลังเยียวยาชุมชนลุ่มน้ำแม่ตาว ก้าวสู่เขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

    เวทีสานพลังขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแม่ตาว หนุนภาครัฐเยียวยาชาวบ้านได้รับผล กระทบจากแคดเมียมมานับ ๑๐ ปี สผ. บูรณาการหน่วยงานและชุมชนเข้ามีส่วนร่วม วางกรอบควบคุมและกำกับโรงงานหรือเหมืองแร่ ฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน คาดเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ ครม. เพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน
 
   เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีสช.เจาะประเด็น ครั้งที่ ๔/๒๕๕๗ เรื่อง "สานพลัง สร้างสุขภาวะ สู่เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแม่ตาว" ณ ร้าน Reflection Again ซอยอารีย์ ๓ ถนนพหลโยธิน โดยมีสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
 
   นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช. ได้ร่วมทำงานติดตามการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่สืบเนื่องจากการปนเปื้อนแคดเมียมในพื้นที่แม่ตาวมาระยะเวลาหนึ่ง และเมื่อ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ร่างการกำหนดพื้นที่และมาตรการคุ้มครอง ตามคำพิพากษาของศาลปกครองพิษณุโลก ที่ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศเป็น เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ ตามมาตรา ๔๓ แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ ครอบคลุม ๓ ตำบล ได้แก่ ต.พระธาตุผาแดง ต.แม่กุ และ ต.แม่ตาว สช.เห็นว่ากระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการกำหนดขอบเขตของพื้นที่และความต้องการแก้ไขพื้นที่ของภาคประชาชน รวมถึงการทำงานร่วมกับตัวแทนจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์, มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร วิทยาเขตแม่สอด, แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาดัชนีประเมินภาระโรคและสุขภาพประชากรไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP), รพ.แม่สอด, รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลพระธาตุผาแดง, รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลแม่ตาว, รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลแม่กุ, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สอด, สำนักงานเกษตรอำเภอ, อบต.พระธาตุผาแดง, เทศบาลตำบลแม่ตาว และเทศบาลตำบลแม่กุ
 
    “สช.ได้ร่วมดำเนินการเรื่องนี้ โดยลงพื้นที่วิเคราะห์ข้อมูล สภาพแวดล้อม และมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อพิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม มาตรการฟื้นฟูเยียวยา รวมถึงระบบการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก่อนขับเคลื่อนแผนงานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการต่อไป"
 
   นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแม่ตาว ถือเป็นโอกาสดีที่มีการคืนอำนาจ การร่วมพิจารณาขอบเขตของพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกลับสู่ชุมชนอีกครั้ง
 
   "ชุมชนจะได้อาศัยโอกาสนี้ร่วมกระบวนการฟื้นฟูภาวะปนเปื้อนของแคดเมียม เพื่อสามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และประกอบอาชีพที่มีความเข้มแข็ง สร้างอนาคตของชุมชนต่อไป"
 
   สำหรับการนำหลักการประเมินผลกระทบทางสุขภาพมาใช้ จะดำเนินการใน ๒ ส่วน คือ การติดตาม ควบคุม ปรับลดการปนเปื้อนของแคดเมียม ในน้ำ ดิน และอาหาร เพื่อให้สามารถวางแผน ปรับวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนแม่ตาว และอีกส่วนคือ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพของแผนคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการกำหนดขอบเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะระดมความร่วมมือชุมชนแม่ตาวและหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ ในการกำหนดและบังคับใช้แผนงานฯ เรียนรู้และวางกรอบการจัดการ ตลอดจนกำหนดทรัพยากรที่ต้องใช้ร่วมกันต่อไป
 
   นายญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ ตัวแทนชุมชนคนลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก เปิดเผยว่า เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความสำเร็จขั้นแรกของการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาวบ้านในพื้นที่ ๓ ตำบล ซึ่งได้รับผลกระทบจากแคดเมียมในร่างกายมานานนับ ๑๐ ปี หลังจากนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อกำหนดแผน มาตรการ และขอบเขตของเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นบทเรียนที่ดีให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
 
   นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ครม. เคยมีมติให้เยียวยาผู้ป่วย พร้อมทำลายข้าวที่ปนเปื้อนแคดเมียม และเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน แต่ปัจจุบันพบว่าการแก้ปัญหาไม่ประสบผลสำเร็จ เจ้าของที่ดินซึ่งหันไปปลูกอ้อยหรือยางพารา ยังไม่ได้รับการดูแลเรื่องราคาและผลผลิตต่อไร่ต่ำมาก ส่วนหนึ่งจึงกลับมาปลูกข้าวเช่นเดิม เพราะสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนแม่ตาวมากกว่า ขณะที่ผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคไตและกระดูกพรุนก็ยังไม่ได้รับเยียวยาเท่าที่ควร
 
   ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำแม่ตาว มีความแตกต่างจากแนวทางเดิมที่ สผ.เคยประกาศมา ซึ่งโดยทั่วไปเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ยังเป็นพื้นที่ไม่มีผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมาก่อน จึงมีเพียงมาตรการดูแลรักษาหรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตเท่านั้น แต่สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว เป็นพื้นที่ที่เกิดผลกระทบไปมากแล้ว จึงต้องมีรายละเอียดของมาตรการฟื้นฟู เยียวยาชาวบ้านเพิ่มเติมให้เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ลดความเสี่ยงจากการสัมผัสแคดเมียมและมีระบบการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ โดยมีชุมชนร่วมกับคณะทำงานพิจารณาเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณลุ่มน้ำแม่ตาวท้องที่ตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่ตาวและตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้เกิดเป็นแผนที่สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย คือเพื่อให้การดำเนินการแก้ปัญหาการปนเปื้อนแคดเมียมในสิ่งแวดล้อม ที่เป็นสิ่ง คุกคามสุขภาพของประชาชน ในพื้นที่นั้น ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน อันจะเป็นประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีดังกล่าวได้ตามสิทธิของการดำรงชีวิตที่ปลอดภัย
 
   ดร.วิสาข์ กล่าวว่า คำสั่งศาลปกครองพิษณุโลก เปรียบเสมือนอาวุธที่จะคอยปกป้องสิทธิ ฟื้นฟู เยียวยาผลกระทบให้กับชุมชน และในฐานะที่เป็นตัวแทนของ สช. ในการจัดทำร่างกฎกระทรวงในการกำหนดขอบเขตของพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการจัดทำแผนและมาตรการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พบว่า มาตรการเบื้องต้นจะควบคุมโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน รวมทั้งจัดทำแผนและมาตรการฟื้นฟูเยียวยาให้กับชาวบ้านให้เหมาะสม
 
   "ขณะนี้กระบวนการอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ ซึ่งหากได้ข้อสรุปแล้ว ก็จะนำร่างประกาศกระทรวงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการจังหวัด หลังจากนั้น สผ. จะนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าว และประกาศเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมต่อไป"
 
   นายวีรนิต ฐานสุพร ผู้อำนวยการกลุ่มงานพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว มีการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในดิน ตะกอนดิน และน้ำในลำน้ำแม่ตาว และแม่กุ รวมทั้งมีผู้ป่วยที่มีสารแคดเมียมในร่างกาย ดังนั้น การจัดทำเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการควบคุมและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการเฝ้าระวังทางสุขภาพของประชาชน สผ. จึงได้ประสานความร่วมมือกับ สช. รวมทั้งหน่วยราชการ สถาบันการศึกษาที่เข้ามาศึกษาการปนเปื้อนสารแคดเมียมในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำมาสู่การยกร่างแผนปฏิบัติการเพื่อควบคุม ป้องกัน ฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว
 
   สำหรับร่างกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่ตาว และตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พ.ศ.... ได้กำหนดให้พื้นที่ตามขอบเขตการปกครอง ทั้ง ๓ ตำบล เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และแบ่งบริเวณย่อยออกเป็น ๓ บริเวณ เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อสภาพปัญหาและสภาพกายภาพของพื้นที่ กล่าวคือ บริเวณที่ ๑ จะเป็นบริเวณที่มีศักยภาพแร่สังกะสี บริเวณที่ ๒ จะเป็นบริเวณพื้นที่ ๑.๕ กิโลเมตร จากแนวขนานลำห้วยแม่ตาวทั้งสองฝั่ง และบริเวณ ๑ กิโลเมตร จากแนวขนานของลำห้วยแม่กุทั้งสองฝั่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีผลการตรวจพบการปนเปื้อนสารแคดเมียมในดินและลำน้ำ ส่วน บริเวณที่ ๓ เป็นบริเวณที่นอกเหนือบริเวณที่ ๑ และบริเวณที่ ๒
 
   ส่วนแผนฟื้นฟูนั้น ได้กำหนดยุทธศาสตร์ของแผนออกเป็น ๓ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน และยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทุกภาคี ซึ่งในแต่ละยุทธศาสตร์ จะกำหนดแผนงาน โครงการ และหน่วยราชการที่รับผิดชอบ
 
   การดำเนินการต่อไป สผ. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมประชาคม เมื่อวันที่ ๒๓ ก.ย.๒๕๕๗ มาพิจารณาปรับแก้ไข และจะนำร่างกฎกระทรวง และร่างแผนฟื้นฟู เสนอคณะทำงานระดับอำเภอ คณะทำงานระดับจังหวัด คณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ตามลำดับต่อไป
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144