แก้ปัญหาภัย 'โรงไฟฟ้าชีวมวล' หนุนกฎเหล็กลดความเสี่ยงกระทบสุขภาพ

 เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เดินหน้ามาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล หนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการดูแลสุขภาวะชุมชน หลังพบเอกชนเลี่ยงประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สธ. ตั้งทีมลงพื้นที่ตรวจสอบ ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมืองวางแนวควบคุมพื้นที่ก่อสร้างอย่างเข้มงวด
 
   การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๒๕๕๗ มีการประชุม แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา ในเรื่อง "การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล" โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมมลพิษ กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมทั้งเครือข่ายพลังงานภาคประชาชนเข้าร่วมนำเสนอความคืบหน้า
 
   นายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกทั่วประเทศ โดยโครงการส่วนใหญ่พบอยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือและอีสาน ซึ่งพบว่าหลายโครงการสร้างผลกระทบต่อสุขภาวะของคนในชุมชน เนื่องจากยังมีช่องว่างของกฏหมาย ที่ระบุว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กที่มีกำลังผลิตต่ำกว่า ๑๐ เมกะวัตต์ ไม่ต้องผ่านการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้เกิดการหลบเลี่ยงก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีกำลังผลิต ๘-๙ เมกะวัตต์หรือต่ำกว่านั้น หลายโครงการในพื้นที่เดียวกัน จนมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองอยู่ในขณะนี้
 
   แนวทางการแก้ปัญหา จำเป็นต้องสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างตรงไปตรงมาและครอบคลุมพื้นที่ใกล้เคียงหรือชุมชนที่เป็นทางผ่านของเชื้อเพลิงชีวมวลด้วย เพราะบางชุมชนกลายเป็นพื้นที่รับน้ำจากทางโรงงาน อีกทั้งต้องปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติโครงการให้ทาง อบต.หรือเทศบาลได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาผลกระทบ ไม่ใช่ปล่อยให้ภาคเอกชนเป็นผู้จัดการเพียงฝ่ายเดียว
 
   "ภาครัฐควรให้ความสำคัญต่อแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และควรมีแผนยุทธศาสตร์โรงไฟฟ้าชีวมวลระดับจังหวัด รวมทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนว่า พื้นที่ตรงไหนเหมาะสมในการตั้งโรงไฟฟ้า มีการกำหนดประเภทโรงไฟฟ้าที่เหมาะสม ระบบบำบัดน้ำเสียต้องเป็นเทคโนโลยีที่ดี และไม่ควรใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่ สธ. เองก็ควรประกาศว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลอาจเป็นอันตรายกับสุขภาพ สร้างเครื่องมือที่ติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที"
 
   ด้าน นางวิจิตรา ชูสกุล ตัวแทนจากเครือข่ายพลังงานจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้บางจังหวัดมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลอยู่แล้ว ๕ แห่ง และเตรียมที่จะจัดสร้างอีก ๕ แห่ง โดยยืนยันว่าโรงงานไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการอยู่แล้วมีปัญหาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ที่สำคัญคือมีการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังผลิตขนาด ๙ เมกะวัตต์ ถึง ๔ แห่งในพื้นที่เดียวกัน เรียกว่าเป็นการตั้งโรงไฟฟ้าแบบศรีธนญชัย เพราะไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งยังพบว่า ถ้าโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จทั้ง ๑๐ แห่ง เชื้อเพลิงชีวมวลจะมีไม่เพียงพออย่างแน่นอน จึงเสนอว่าในระหว่างที่รอผลการศึกษาผลกระทบ อยากให้ยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุป
 
   น.ส.นัฐยา ดาราวรรณ ผู้แทนจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สธ. มีการตั้งทีมนักวิชาการลงพื้นที่ทำการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบผลกระทบด้านสุขภาพระหว่างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีกำลังผลิตต่ำกว่า ๑๐ เมกะวัตต์ และมากกว่า ๑๐ เมกะวัตต์ คาดว่า ผลการศึกษาน่าจะมีข้อสรุปชัดเจนในปี ๒๕๕๘
 
   นายพันศักดิ์ กิรมงคล นักวิชาการสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า มีการกำหนดมาตรฐาน การระบายมลพิษของโรงไฟฟ้าชีวมวลไว้ แต่การติดตามเฝ้าระวังที่ดีควรมาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วย ซึ่งทางกรมฯ มีการจัดทำคู่มือการเฝ้าระวังอย่างง่ายให้ประชาชนได้ศึกษา เช่น การดูจากฝุ่นละอองและน้ำที่มีสีเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากปัญหาของส่วนราชการที่พบบ่อยครั้งคือ การนำเครื่องมือไปตรวจวัดไม่ทันเวลา เพราะปัญหาที่ชัดเจนมักเกิดในช่วงสั้นๆ เท่านั้น แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหลักฐานอาจหมดไปแล้ว ทั้งๆ ที่ประชาชนเดือดร้อน
 
   ขณะที่ ผศ.ดร.พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ คณะกรรมการติดตามการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ(คมส.) เปิดเผยว่า การติดตามมติเรื่อง "การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล" ครั้งนี้ ถือว่ามีความคืบหน้าไปพอสมควร เช่น กรมโยธาธิการและผังเมืองเริ่มมีกฏเกณฑ์ควบคุมพื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้ว ขณะที่กรมควบคุมมลพิษก็มีความตั้งใจที่จะดูแลผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งการจัดเวทีหารือทุกฝ่ายแบบนี้ จะช่วยกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานหันมาเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น
 
   "ตอนนี้ภาคประชาชนมีความพร้อมที่จะร่วมในการแก้ปัญหา แต่ประเด็นสำคัญคือ ควรเร่งรัดแก้ข้อจำกัดของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเราควรมีการจัดเวทีพูดคุยเพื่อบูรณาการความร่วมมือให้มากขึ้น และหลังจากนี้จะเชิญภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย โดยนำคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง"
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144