กก.ทบทวน ปลื้มธรรมนูญฯ พื้นที่ เล็งปฏิรูป ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง

กรรมการทบทวนฯ ปลื้ม เกิดธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่หลายแห่ง ชุมชนนำไปขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมได้ แนะเขียนธรรมนูญสุขภาพฯ ใหม่เป็นโรดแมพ ออกแบบกลไกให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ประธานกรรมการฯ ระบุเป็นความสวยงามของกระบวนการมีส่วนร่วม ด้านเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) ย้ำการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่สำเร็จเกินคาดหมาย หวังการทบทวนฯ จะปิดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็ง นำไปสู่การปฏิรูปแบบกัลยาณมิตร ก่อนนำเข้าบอร์ด คสช. เพื่อเสนอต่อ ครม. สู่กระบวนการของสภาฯ ต่อไป
 
   ในการประชุมคณะกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ครั้งที่ 1 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา เป็นประธาน ได้มีการนำเสนอภาพรวมของกระบวนการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งเป็นธรรมนูญสุขภาพฯ ฉบับแรกของประเทศไทย ผลการขับเคลื่อน ตลอดจนข้อสรุปจากการประเมินและทบทวนแนวคิดธรรมนูญสุขภาพฯ ชี้ให้เห็นว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่อาจลดทอนการมีและใช้ประโยชน์ธรรมนูญสุขภาพฯ อยู่บ้างและต้องหาทางปรับปรุง เกิดจากการแยกเขียนธรรมนูญสุขภาพฯ ออกจาก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ในช่วงการยกร่างกฎหมาย ทำให้ธรรมนูญสุขภาพฯ ที่ถูกกำหนดเป็นภาพอนาคตที่พึงประสงค์ ขาดการผูกโยงกับกลไกขับเคลื่อนที่มีอยู่ใน พ.ร.บ. เช่น สมัชชาสุขภาพ หรือการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ มีเพียงกลไกหลักที่ใช้ คือ คณะกรรมกรรมการติดตามการขับเคลื่อนที่มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธานทำทำหน้าที่แปลงฝันเป็นจริง การขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ในระดับชาติจึงยังไม่กว้างขวางเท่าที่ควร แต่ก็พบว่ามีหลายหน่วยงานที่นำไปใช้อ้างอิงในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ และไม่มีนโยบายด้านสุขภาพที่ขัดแย้งกับทิศทางของธรรมนูญฯ
 
   “ความสำเร็จในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพฯ ฉบับแรกคือ การเกิดขึ้นของธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ ซึ่งมีหลายพื้นที่นำธรรมนูญสุขภาพฯ ไปเป็นแนวคิดหลักในการกำหนดเป็นกติกาหรือข้อตกลงร่วมของชุมชน เป็นธรรมนูญสุขภาพฯ ที่เขียนแล้วจับต้องได้ ตอบสนองวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน โดยมีการกำหนดกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เช่น กำหนดให้มีสำนักธรรมนูญสุขภาพฯ เป็นหน่วยติดตามกำกับ มีแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ และใช้สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนติดตามประเมินสาระในธรรมนูญสุขภาพฯ”
 
   การเตรียมกระบวนการทบทวนธรรมนูญฯ ขณะนี้ได้จัดเตรียม 2 ส่วนสำคัญ คือ การทบทวนทบทวนความรู้จากกระบวนการขับเคลื่อนและใช้ประโยชน์จากธรรมนูญสุขภาพฯ ที่ดำเนินการร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การประเมินและทบทวนแนวคิดการนำธรรมนูญสุขภาพฯไปใช้ขับเคลื่อนระบบสุขภาพ 2.การประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ โอกาสและภัยคุกคามของแต่ละหมวดในธรรมนูญสุขภาพฯในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และ 3.การจัดทำภาพอนาคตของระบบสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 เรื่องได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มและเผยแพร่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์แล้ว ส่วนที่สอง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เตรียมการดำเนินงานเบื้องต้น ใน 3 รูปแบบคือ 1.กระบวนการประชาเสวนาหาทางออก (Citizen dialogue) ที่จัดโดยสถาบันพระปกเกล้าฯ เพื่อตอบโจทย์ภาพอนาคตของระบบสุขภาพไทยในมุมมองของประชาชน โดยกำหนดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 5 เวที 4 ภาค ได้แก่ วันที่ 19-20 มกราคม 2558 เวทีภาคกลางที่กาญจนบุรี 22-23 มกราคม เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อุบลราชธานี 26-27 มกราคม 2558 เวทีภาคเหนือที่นครสวรรค์ 31 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2558 เวทีภาคใต้ที่สุราษฏร์ธานี และ 17 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นเวทีรวมที่ศูนย์ราชการ กรุงเทพมหานคร โดยมีโจทย์สำคัญคือ ประชาชนต้องการระบบสุขภาพในอนาคตเป็นอย่างไร เพราะอะไรถึงอยากให้เป็นอย่างนั้น ทำอย่างไรถึงจะได้ภาพนั้น และใครเป็นคนทำ รูปแบบที่สอง เป็นการทบทวนธรรมนูญฯ โดยกระบวนการลูกขุนพลเมือง (Citizen Jury) เป็นการรับฟังความคิดเห็นรูปแบบใหม่ โดยตั้งโจทย์ที่ต้องการรับฟังความเห็นให้ประชาชนที่มาจากการสุ่มตัวอย่างเรียกว่า “ลูกขุน” ที่จัดให้อยู่ร่วมกัน 3-4 วัน โดยมี “พยาน” จากฝ่ายที่มีข้อมูลรูปแบบต่างๆ ของโจทย์ที่แตกต่างกันมาให้ข้อมูลแก่ลูกขุน หลังฟังข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ แล้ว ลูกขุนจะแลกเปลี่ยนความเห็นกัน โดยวางแผนนำมาใช้ใน 2 ประเด็นคือ เรื่องการจัดระบบดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว ซึ่งจัดไปแล้วเมื่อวันที่ 7-10 มกราคม 2558 และได้รับความเห็นอย่างน่าสนใจ ส่วนเวทีที่ ๒ จะจัดในประเด็นเรื่องการบริการสุขภาพ ประมาณเดือนพฤษภาคมนี้
 
   รูปแบบที่สาม เป็นการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นและสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อทบทวนธรรมนูญสุขภาพฯ รายหมวด เช่น เรื่องการบริการสุขภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค สุขภาพทางจิต สุขภาพทางปัญญา สิทธิด้านสุขภาพ โดยทีมทำงานวิชาการหลากหลายกลุ่ม ทั้งนี้ คณะกรรมการได้วางกรอบการขับเคลื่อนตามแผนงาน โดยเน้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ผ่านเวทีรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้เข้ามาพูดคุยกันในเรื่องที่สนใจร่วมกันมากขึ้น เช่น สมัชชาสุขภาพจังหวัด สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และแกนธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ โดยจะพิจารณารายละเอียดและปรับปรุงแผนการทำงานในการประชุมครั้งต่อไป
 
   ด้าน นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า “ภาพของธรรมนูญสุขภาพฯ ฉบับเก่า คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการว่า เมื่อเราทำไป ผู้คนที่ร่วมเดินและสังคมส่วนใหญ่ จะสะท้อนภาพกลับมาว่าเขาอยากเห็นอะไร นี่คือความสวยงามของกระบวนการมีส่วนร่วมที่เป็นภาพใหญ่ นำสิ่งที่เขาต้องการจะเห็นมาเรียบเรียงและเชื่อมกับการทำงานทางวิชาการ สรุปเป็นยุทธศาสตร์และข้อเสนอต่างๆ ในการทบทวนธรรมนูญฯ” ขณะที่ นพ. อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า การทบทวนธรรมนูญสุขภาพฯ ในรอบ 5 ปี ถือเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการปฏิรูป นับเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นร่วมกัน ข้อดีของการแยกธรรมนูญสุขภาพฯ ออกจากตัวบทของกฎหมายสุขภาพฯ คือ หากเกิดปัญหาหรือใช้ไม่ได้ผล ก็สามารถปรับได้ง่าย หากตราอยู่ใน พ.ร.บ. ก็จะทำให้ปรับเปลี่ยนยาก การทบทวนธรรมนูญฯ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิรูประบบสุขภาพ ภาพความสำเร็จที่เกิดจากธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่เกิดขึ้นมากมายเกินความคาดหมาย เป็นการเคลื่อนไหวของสังคมอย่างสำคัญ ที่แสดงความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ในมุมมองด้านบวก ที่น่าจะวิเคราะห์และส่งเสริมให้เกิดการเขียนแบบนี้ในกฎหมายอื่น ในลักษณะการปฏิรูปเพื่อให้มีกระบวนการทำงานต่อเนื่องที่เหมาะสมและพัฒนาต่อยอดต่อไปได้ตามยุคสมัย
 
   “การทบทวนธรรมนูญฯ ครั้งนี้จะต้องหาวิธีช่วยปิดจุดอ่อนเสริมจุดแข็ง ทำให้ดียิ่งขึ้น สร้างความเป็นเจ้าของ มีสาระสำคัญคือ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและเน้นการมีส่วนร่วม และหลังจากกระบวนการทบทวนได้ข้อสรุปเพื่อจัดทำแผนและเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)ฯ พิจารณาเห็นชอบ ก็นำเสนอเข้าสู่การรายงานต่อสภาฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งธรรมนูญสุขภาพฯ มีผลผูกพัน 2 ส่วน คือ 1.ผูกพันหน่วยงานของรัฐ และ 2.นำไปใช้อ้างอิงในการทำงานของหน่วยงานทุกภาคส่วนได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความงามที่ไม่เคยเกิดขึ้นในกฎหมายใดมาก่อน ถือเป็นการปฏิรูปแบบกัลยาณมิตร โดยการเรียนรู้ร่วมกัน”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144