สช. เปิดรับฟังความเห็น ‘ข้อถกแถลง’ เดินหน้า ‘สร้างความมั่นคงอาหาร-รับมือโรคอุบัติใหม่’

สช. เปิดรับฟังความเห็น ‘ข้อถกแถลง’ สมัชชาสุขภาพฯ เดินหน้า ‘สร้างความมั่นคงอาหาร-รับมือโรคอุบัติใหม่’

   สช. จับมือภาคีเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “ความมั่นคงทางอาหาร-โรคอุบัติใหม่” เพื่อพัฒนาข้อเสนอสู่การจัดทำระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 โดยภาคีเครือข่ายเสนอตั้ง “ครัวชุมชน-ธนาคารอาหาร” รับมือวิกฤต ด้านอาจารย์แพทย์จุฬาฯ ชงถอดบทเรียนโควิด-19 สู่การทำ “บันทึกการทำงาน” เพื่อใช้รับมือโรคระบาดในอนาคต
 
   สองเรื่องที่อยู่ระหว่าง “การพัฒนาข้อเสนอ” เพื่อนำไปสู่การประกาศเป็นระเบียบวาระเพื่อพิจารณาในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 ได้แก่ 1. ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต 2. การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพจากโรคอุบัติใหม่: บทเรียนจากโควิด-19 โดยทั้งสองเรื่องดังกล่าว อยู่ภายใต้ธีมหลัก “พลังพลเมืองตื่นรู้ สู้วิกฤตสุขภาพ” ซึ่งในขั้นตอนการพัฒนาข้อเสนอครั้งนี้ ถือเป็นการ “พลิกโฉม” ครั้งใหญ่ด้วยการนำเครื่องมือที่เรียกว่า “ข้อถกแถลง” มาสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
 
   “ข้อถกแถลง” คือคำถามที่จะช่วย “โฟกัส” ให้ภาคีเครือข่ายตอบได้ตรงประเด็น โดยขณะนี้มีการส่งข้อถกแถลงให้ภาคีเครือข่ายพิจารณาให้ความเห็นแล้ว
 
   นอกเหนือจากคำตอบที่จะส่งกลับมาในรูปแบบของ “ความเห็น” ผ่าน google form แล้วสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ยังได้จัดเวที “รับฟังความคิดเห็นต่อเอกสารข้อถกแถลง” ทั้งสองเรื่อง ผ่านระบบ Zoom เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ภาคีเครือข่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่และกว้างขวางมากขึ้น
 
   นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ แจ้งว่า หลังจากส่งข้อถกแถลงให้ภาคีเครือข่ายทำความเข้าใจและตอบคำถามแล้ว คณะทำงานจะนำทุกความเห็นของทุกสมาชิกมาประมวลก่อนจะปรับเป็น “ร่างมติฯ” ซึ่งเป็นไปตามหลักการจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ
 
   การรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” มุ่งเน้นให้ภาคีเครือข่ายแสดงความคิดเห็นต่อ 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย นิยามความมั่นคงอาหาร ที่มาของอาหารและการเข้าถึงอาหาร ระบบการกระจายอาหาร การปรับตัวเกี่ยวกับอาหารในสถานการณ์วิกฤต รวมถึงข้อเสนอนโยบายสาธารณะด้านความมั่นคงทางอาหาร
 
   ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องแต่ละองค์กร ได้ร่วมกันบอกเล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การทำงานขององค์กรตัวเอง พร้อมแนวทางการสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต
 
   ส่วนการรับฟังความคิดเห็น “การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพจากโรคอุบัติใหม่: บทเรียนจากโควิด-19” ซึ่งมีข้อถกแถลงรวม 14 ข้อ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนถึงผลกระทบในหลากหลายมิติจากมาตรการ “ล็อคดาวน์” พร้อมทั้งเสนอให้ภาครัฐหาจุดสมดุลในมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ผ่อนปรนในธุรกิจที่ควรผ่อนปรนและเข้มงวดในธุรกิจที่มีความเสี่ยง รวมถึงเสนอให้มีจัดการทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และให้ความสำคัญกับการสื่อสารความเสี่ยงแก่ประชาชน
 
   นอกจากนี้ องค์กรภาคีเครือข่ายยังเห็นตรงกันว่าการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต จำเป็นต้องใช้ชุมชน-ตำบลเป็นฐาน เดินตามหลักการ “ป้องกันดีกว่ารักษา” ให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ให้ความสำคัญกับ “พลเมืองจิตอาสา” ตลอดจนองค์กรทางศาสนา ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญที่เข้ามาช่วยหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐ
 
   รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำว่า สิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือ การถอดบทเรียนจากโควิด-19 เพื่อเขียนเป็น “บันทึกมาตรฐานการทำงาน” เพื่อรับมือเหตุการณ์ในอนาคต ควรเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการ (Lab) ระบบการเฝ้าระวังโรค ปัญหาข่าวปลอมและผู้มีอภิสิทธิชนไม่ปฏิบัติตามมาตรการรัฐ โดยต้องดำเนินการทั้ง 3 ระดับ คือ ชุมชน ประเทศ และภูมิภาค
 
   นางอรจิตต์ บำรุงสกุลสวัสดิ์ กล่าวว่า โรคอุบัติใหม่ไม่ได้จบที่โควิด-19 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างระบบรองรับให้กับชุมชน ให้ชุมชน มีแพลตฟอร์มใหม่สำหรับการรับมือกับวิกฤตในอนาคต โดยรัฐต้องเตรียมความพร้อมในระดับประเทศไว้ตั้งแต่ตอนนี้
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม):