เปิดมิติใหม่สมัชชาสุขภาพฯ ปีนี้ เริ่มชี้แจงกระบวนการเรื่องแรก ‘วิกฤตอาหาร’ ยุคโควิด-19

เปิดมิติใหม่สมัชชาสุขภาพฯ ปีนี้ เริ่มชี้แจงกระบวนการเรื่องแรก ‘วิกฤตอาหาร’ ยุคโควิด-19

   สช. เปิดเวทีชี้แจงกระบวนการพัฒนา ร่าง ระเบียบวาระ เรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” จากภาคีเครือข่ายกว่า 300 องค์กร ก่อนการรับฟังความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำ “ร่างมติ” เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 เดือนธันวาคมนี้
 
   มิติใหม่ของการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นฟูประเทศจาก “โควิด-19” กำลังจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงเดือนธันวาคมปลายปีนี้
 
   สำหรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 จะถูกจัดขึ้นในลักษณะ “ไฮบริด” คือ ผ่าน Online ควบคู่ไปกับ Offline ส่วนการกำหนดกรอบประเด็นหลัก (Theme) และการพัฒนาข้อเสนอก็ไม่ได้กำหนดแบบ “ปีต่อปี” อีกต่อไป เพื่อความต่อเนื่องในการจัดทำนโยบายสาธารณะ จึงมีการวางแผนระยะยาวไปถึง 2 ปี (2563 - 2564) โดยคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ซึ่งมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน ได้เห็นชอบ “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” เป็นธีมหลัก
 
   ภายใต้ธีมหลักดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่มีการกำหนด “หมวดประเด็นย่อย” (Subtheme) ใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. วิกฤตสุขภาพจากโรคอุบัติใหม่ 2. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับวิกฤตสุขภาพ 3. ปัจจัย 4 ในภาวะวิกฤต 4. วิกฤตสุขภาพของกลุ่มคน 5. วิกฤตสุขภาพกับสังคมออนไลน์
 
   สำหรับหมวดประเด็นย่อย “ปัจจัย 4 ในภาวะวิกฤต” มีร่าง ระเบียบวาระที่ชัดเจนแล้วก็คือ “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการชี้แจงกระบวนการพัฒนาร่าง ระเบียบวาระ ก่อนรับฟังความคิดเห็น ต่อ “ข้อถกแถลง” เพื่อประกอบการจัดทำ “ร่างมติ”จากสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ กว่า 300 องค์กร
 
   “ข้อถกแถลง” หรือ Point for Discussion ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องใหม่ ซึ่งมีคำอธิบายในเวที “ชี้แจงทำความเข้าใจกระบวนการพัฒนาข้อเสนอและเอกสารข้อถกแถลงความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563
 
   นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า การจัดทำมติสมัชชาสุขภาพฯ ในอดีต จะเป็นการเสนอให้แต่ละหน่วยงานนำมติไปปฏิบัติ แต่ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนโดยเสนอให้หน่วยงาน พื้นที่ และภาคส่วนต่างๆ ทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงกัน เพื่อให้สังคมเดินไปในทิศทางที่เห็นร่วมกัน
 
   ฉะนั้น “ข้อถกแถลง” จึงเริ่มต้นจากการสร้าง “จุดสนใจร่วม” ขึ้นมาก่อน จากนั้นก็ทำเรื่องดังกล่าวให้มีความชัดเจนขึ้น
 
   นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อถกแถลงเป็นสิ่งใหม่ที่เราอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน โดยเราได้ส่งเอกสารที่เรียกว่า “ข้อถกแถลง” หัวข้อ “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต : วิกฤตซ้อนวิกฤต จากโควิด-19 สู่ความยั่งยืน” ซึ่งมี11 ข้อถกแถลง ให้กับสมาชิกสมัชชาฯ ทั่วประเทศ กว่า 300 เครือข่ายไปแล้ว การประชุมในวันนี้ เป็นการชี้แจงกระบวนการพัฒนาร่าง ระเบียบวาระ
 
   ถัดจากนั้น ที่ประชุมยังได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งในห้องและผู้ที่เข้าร่วมผ่านโปรแกรม Zoom แสดงความคิดเห็น โดย นายไมตรี จงไกรจักร์ เล่าถึงข้อค้นพบในช่วงโควิด-19 ว่า ภาครัฐจะดูแลกลุ่มเปราะบางเฉพาะผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้สูงอายุ แต่ที่ จ.พังงา มีผู้ที่อยู่ในภาคท่องเที่ยวตกงานจำนวนมาก และยังมีผู้ที่อาศัยอยู่ตามเกาะ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เผชิญปัญหาเรื่องการขนส่งอาหารและไม่สามารถหาอาหารได้ เนื่องจากรัฐไม่ให้จับปลาในพื้นที่อุทยาน ดังนั้นจึงควรคิดถึงกลุ่มเปราะบางสองกลุ่มนี้ด้วย
 
   น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา กล่าวถึงแนวคิด “ธนาคารอาหาร” หรือ Food Bank ที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยตั้งคำถามว่ากลุ่มดังกล่าวเหล่านี้ รวมถึงผู้กำหนดนโยบายได้รับข้อถกแถลงแล้วหรือไม่
 
   ต่อข้อถามนี้ คณะอนุกรรมการวิชาการ อธิบายว่า ขั้นตอนในขณะนี้อยู่ระหว่างการให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ตอบข้อถกแถลงกลับมา จากนั้น จะมีการนำข้อถกแถลงเหล่านี้ไปประกอบการจัดทำ “ร่างมติ” โดยในขั้นตอนการจัดทำร่างมติ จะมีการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญรวมถึงภาคเอกชนด้วย
 
   นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เสนอให้ สช.ประสานการทำงานร่วมกับ “คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ” ซึ่งเป็นกลไกเชิงนโยบายระดับชาติด้วย
 
   นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นผ่านทาง Comment ในระบบ Zoom ที่น่าสนใจ อาทิ มีผู้แสดงความเห็นว่า นอกจากวิกฤตโควิด-19 แล้ว ยังมีวิกฤตแล้งที่ทำให้ผลิตข้าวไม่ได้ จึงควรมีการดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้วย รวมถึงข้อเสนอให้ส่วนกลางเชิญกลไกด้านการศึกษาเข้าร่วมคุย ข้อเสนอให้นำข้อถกแถลงเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วย
 
   ในตอนท้าย คณะอนุกรรมการวิชาการ เน้นย้ำว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพฯ ปีนี้ จะมีความแตกต่างออกไปจากทุกปี โดย คจ.สช. กำหนดกรอบการจัดสมัชชาสุขภาพฯ ไว้ 3 ข้อ ได้แก่ 1. ปรับและบูรณาการการดำเนินการทั้ง “ขาขึ้น” และ “ขาเคลื่อน” ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นและสมัชชาสุขภาพจังหวัด 2. เตรียมประเด็นทางวิชาการของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติพร้อมกัน 2 ปี 3. ให้ความสำคัญกับการนำมติและการขับเคลื่อนมติเข้าสู่การแลกเปลี่ยนในเวทีสมัชชาสุขภาพฯ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม):