สานพลัง จัดทัพทีมเลขานุการ HIA Commission

หลังจากมีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เมื่อ 19 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ในคณะกรรมการชุดนี้มีการออกแบบให้มีเลขานุการร่วม ในรูปของ “เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” ทางกลุ่มงาน กลุ่มงานพัฒนาและขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.). ได้ เชิญผู้แทนหน่วยงาน จาก กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย, กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค, และ กองพัฒนาระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมประชุมหารือเพื่อออกแบบการทำงานร่วมกัน

โดยบทบาทของ ทีมเลขาฯร่วม มีบทบาท ร่วมกันเป็นกลไกหลักในการประสานงานเพื่อการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ในภาพรวม เพื่อให้เกิดการบูรณาการขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตามบทบาทและภารกิจของแต่ละหน่วยงาน/องค์กร ใน 2 ด้านหลัก ได้แก่

  • 1) การพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และสนับสนุนการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ การจัดการความรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประเทศไทย
  • 2) การจัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อเป็นกลไกกำหนดทิศทาง และประสานความร่วมมือในการพัฒนาระบบและกลไกขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

โดยทุกหน่วยงาน/องค์กร มีการมอบหมายผู้รับผิดชอบหลักและทีมงานที่จะเข้ามาร่วมเป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ให้ชัดเจน เพื่อความต่อเนื่องและความคล่องตัวในการประสานการทำงานร่วมกัน
แนวทางการประสานงานและจัดกระบวนการในการประชุมคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) และ/หรือการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มี ทีม สช. เป็นแกนหลักในการประสานงานฝ่ายเลขานุการ และการประสานงานการจัดการประชุมฯ ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ เป็นกลไกดำเนินการหรือร่วมดำเนินการในการเตรียมการด้านเนื้อหาสาระและการจัดกระบวนการในการประชุมในระเบียบวาระที่เกี่ยวข้อง หรือตามที่มีการมอบหมาย

สิ่งที่น่าสนใจคือ ทุกหน่วยงานมองการทำงานร่วมกันครั้งนี้ไปไกลกว่าการเป็นเลขานุการการประชุม แต่มองถึง การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการพัฒนาระบบกลไกความร่วมมือในการทำงานด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพร่วมกัน

ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของหน่วยงานต่าง ๆ จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการสานพลังกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มาร่วมกันพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประเทศ