สช. ดันแผนยุทธศาสตร์ พัฒนา HIA ทั้งระบบ รองรับสถานการณ์สุขภาพในอนาคต

   สช. ลงนาม MOU ร่วมกับสถาบันนโยบายสาธารณะ ม.สงขลานครินทร์ พร้อมประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) นัดแรก หวังพัฒนา HIA รองรับสถานการณ์สุขภาพในอนาคต ผลักดันงานวิชาการ บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน
 
   ปัจจุบันสถานการณ์ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีความซับซ้อนและความท้าทายสูงขึ้น อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในการสานพลังองค์กรภาคีเพื่อร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ จึงผลักดันให้เกิดแผนการพัฒนาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ เอชไอเอ (Health Impact Assessment : HIA) ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
   วันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ สช. และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนและการจัดการความรู้ด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ รวมถึงมีการปรับปรุงข้อตกลงความร่วมมือใหม่ โดยมุ่งเน้นด้านการพัฒนาและผลิตบุคลากรที่มีความรู้และสามารถปฏิบัติงานด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ สนับสนุนและส่งเสริมการจัดการงานวิจัยและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประเมินกระทบด้านสุขภาพ ร่วมกันขับเคลื่อนการนำกระบวนการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพไปใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ หลังจากที่เคยทำบันทึกความร่วมมือตั้งแต่ปี 2556 จนเกิดการจัดตั้งสถานวิจัยการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพ การจัดกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และงานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษาขึ้น นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันนโยบายสาธารณะซึ่งมีความแข็งแกร่งด้านวิชาการและการพัฒนานโยบายสาธารณะ จะเป็นเสาหลักในการทำงานร่วมกันกับ สช. ที่มีภารกิจในการคุ้มครองประชาชนให้เข้าถึงสิทธิในเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
 
   ภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว ยังมีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพครั้งที่ 1/2563 ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานที่มีบทบาทในการทำเอชไอเอเข้าร่วมเป็นฝ่ายเลขานุการ ประกอบด้วยกองการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กรมอนามัย กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค และสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างก็มีกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและพัฒนาเอชไอเอ
 
   การประชุมนี้ แต่ละหน่วยงานได้นำเสนอบทบาทหน้าที่ของตนและการดำเนินงานที่ผ่านมา เช่น การออกแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ สผ. ซึ่งมีเรื่องการปฏิรูประบบและโครงสร้างการจัดทำอีไอเอ หรือการพัฒนาต้นแบบและแนวทางการทำเอชไอเอของกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าแต่ละหน่วยงานต่างมีข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ เช่น การขาดการบูรณาการระดับกระทรวง การขาดการเชื่อมโยงผลกระทบต่อสุขภาพจากปัจจัยกำหนดสุขภาพด้านสังคมเศรษฐกิจ เครือข่ายวิชาการที่ทำงานเอชไอเอส่วนใหญ่เป็นความสนใจส่วนบุคคล ยังไม่มีความร่วมมือเชิงสถาบันทำให้ขยายเครือข่ายยาก ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีศักยภาพในการทำเอชไอเอ เป็นต้น
 
   “เรามองเห็นความเชื่อมโยงหลายอย่างที่แต่ละหน่วยงานเสนอ นั่นคือ เรื่องการป้องกันไม่ให้ประชาชนป่วยหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการ แต่ต่างฝ่ายต่างถือกฎหมายคนละฉบับ จุดสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือเข้าด้วยกัน” ศ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล รองประธานกรรมการ กล่าว
 
   ด้าน ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันนโยบายสาธารณะ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมีการพัฒนาแพลตฟอร์มการทำเอชไอเอให้มีมาตรฐานโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำเรื่องนี้ ขณะที่ สช. ต้องเป็นกลไกประสานงานให้เกิดการจัดการที่มีศักยภาพ และสร้างองค์ความรู้ เทคนิค กระบวนการ และเครื่องมือที่ทุกฝ่ายยอมรับ
 
   ข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งมียุทธศาสตร์การทำงาน 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาหลักเกณฑ์เอชไอเอ การพัฒนากลไกความร่วมมือ การพัฒนาคนและเชื่อมโยงเครือข่าย และการสร้างองค์ความรู้
 
   ที่ประชุมยังมีมติให้ความเห็นชอบเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพตามภารกิจ 3 ด้าน ประกอบด้วย การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบ กลไก หลักเกณฑ์ และวิธีประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ การส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำหนด และการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการความรู้และการพัฒนาศักยภาพบุคลการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประเทศไทย โดยมีแนวทางการดำเนินงาน เช่น ประสานความร่วมมือของหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือสถาบันวิชาการด้านเอชไอเอระดับชาติ การทบทวนและพัฒนาหลักเกณฑ์เอชไอเอ เป็นต้น ทั้งนี้ สช. จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เป็นข้อมูลเพื่อวางแผนและขับเคลื่อนการทำงานต่อไปในอนาคต
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147