“โรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน” กับพลังชุมชน

   การประท้วง การร้องเรียน กระทั่งการอภิปรายในรัฐสภาเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในภาคอีสาน เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้อีสานเป็นไบโอฮับหรือศูนย์กลางฐานการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และตั้งแต่ปี 2558 ก็มียุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี 2558-2569 โดยตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ปลูกอีก 6 ล้านไร่ภายในปี 2569 เพิ่มการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลในภาคอีสานจาก 20 เป็น 30 แห่ง พ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 29 แห่ง
 
   สอดรับกับแผนพีดีพี 2018 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่เพิ่มส่วนของ ‘โรงไฟฟ้าชุมชุน’ ที่จะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบระหว่างปี 2563-2567 รวม 1,933 เมกกะวัตต์ โดยโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนี้ถูกผลักดันให้ทำทั่วประเทศและกำหนดให้ชุมชนร่วมทุนด้วยส่วนหนึ่ง ในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพ ทันทีที่นโยบายออกมา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เตรียมลงทุนนับแสนล้านบ้าน ขณะที่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายรายก็มีแผนลงทุนในส่วนนี้หลักพันล้าน
 
   

เมื่อชาวบ้านเริ่มรวมตัวในพื้นที่...

 
   ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ในภาคอีสาน นอกจากรวมกลุ่มประท้วงกันแล้ว พวกเขายังรวมกลุ่มข้ามพื้นที่เป็น คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน (คปน.)
 
   ข้อมูลจาก คปน. ระบุว่า ตามแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล 29 แห่งทั่วอีสานนั้น ปัจจุบันมี 5 แห่งที่ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ ทาง คปน. ได้เดินทางมาร้องเรียนกับคณะกรรมาธิการที่รัฐสภา ให้ลงไปตรวจสอบกระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA : Environmental Impact Assessment ในพื้นที่เหล่านั้น และต้องการให้มีกลไกเฝ้าระวังโครงการที่เหลือ
 
   ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เชื้อเพิงชีวมวลที่ใช้ผลิตไฟฟ้ามีได้หลายรูปแบบทั้งกากหรือเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร หรือกากจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ใบและยอดอ้อย เศษไม้ เส้นใยและกะลาปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กาบและกะลามะพร้าว ส่าเหล้า ขยะมูลฝอย น้ำเสียจากโรงงาน หรือแม้กระทั่งมูลสัตว์ต่างๆ แต่โดยส่วนใหญ่มักพ่วงกับโรงงานผลิตน้ำตาลซึ่งต้องใช้อ้อยเป็นจำนวนมากจึงมีทั้งใบอ้อยและกากอ้อยจำนวนมากเช่นกัน
 
   แต่สำหรับความเข้าใจของสังคมโดยทั่วไปอาจคิดว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลน่าจะเป็นพลังงานทางเลือกที่ดีกว่าพลังงานฟอสซิล และสร้างผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ แต่เอาเข้าจริงมันกลับเป็นชนวนความขัดแย้งที่ดูเหมือนจะเริ่มปูพรมทั่วประเทศเช่นกัน
 
   

ข้อกังวลต่อการใช้ “ถ่านหิน”

 
   ศูนย์วิจัยพลังงานยั่งยืนเพื่อท้องถิ่น จังหวัดกาฬสินธุ์ สำรวจพบว่า ภาคอีสานเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ เฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นมีถึง 60 โรง จ่ายไฟเข้าระบบแล้ว 400 กว่าเมกกะวัตต์ แต่เรามักไม่ค่อยได้ยินข่าวคราวว่า เกิดผลกระทบอะไรเกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่บ้าง จนกระทั่งพวกเขารวมตัวกันประท้วงใหญ่เมื่อมีนโยบายขยายจำนวนโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างก้าวกระโดด
 
   “มันไม่ใช่ชีวมวลล้วนๆ แต่ที่เขากังวลกันมากคือ ถ่านหินที่อยู่กับชีวมวล ช่องโหว่คือ โรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชีวมวลเป็นหลัก ส่วนสำรองใช้ได้ไม่เกิน 25% นั้นสามารถใช้อย่างอื่นได้ น้ำมันเตาก็ได้ แอลพีจีก็ได้ ถ่านหินก็ได้ จึงมีโรงไฟฟ้าจำนวนหนึ่งใช้ถ่านหินร่วมด้วย ชาวบ้านก็ไม่เชื่อมั่น เขาจะรู้ได้ยังไงว่าใช้แค่ 25%” นายศุภกิจ นันทวราการ ผู้จัดการนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ให้ความเห็น
 
   

เริ่มปฏิบัติการ “ประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน”

 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานสานพลังเครือข่ายต่างๆ ในการสร้างนโยบายสาธารณะและสร้างบทสนทนาระหว่างคู่ขัดแย้ง ได้เริ่มทำงานในเรื่องนี้โดยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา โดยหนุนเสริมการจัดเวทีพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม กรณีการพัฒนาพลังงานภาคอีสานสู่ความยั่งยืนขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อรับฟังความเห็น ข้อเสนอของผู้ศึกษาและภาคีเครือข่าย เวทีนี้มีความสำคัญตรงที่เราได้รับฟังเสียงของคนในพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้นผ่านการใช้เครื่องมือของ สช.อย่าง CHIA ที่ทำการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
 
   CHIA (Community Health Impact Assessment) คือ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยให้คนในชุมชนจัดทำข้อมูลชุมชนด้วยตัวพวกเขาเองซึ่งจะแสดงให้เห็นศักยภาพของพื้นที่และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เพื่อให้รู้ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อสุขภาวะของพวกเขา และหากจะมีโครงการอะไรในพื้นที่ โครงการนั้นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของพวกเขาหรือไม่ อย่างไร
 
   “สช. ส่งเสริมการใช้เครื่องมือ CHIA โดยเราได้เรียนรู้จากจังหวัดสุรินทร์และอุบลราชธานี แล้วลองทำดู ข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาผลกระทบสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม จากอุตสาหกรรมพลังงานระดับพื้นที่ทำผ่านกระบวนการ CHIA ซึ่งมี 6 ขั้นตอน เราทำไปเบื้องต้น เลือกชุมชนอยู่รอบโรงไฟฟ้าชีวมวลมิตรกาฬสินธุ์ ซึ่งมีทั้งโรงน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานเอทานอล ปัญหาอันดับหนึ่งสำหรับชาวบ้านคือ ฝุ่นละออง 91% กลิ่นเหม็น 76% เสียงดัง 40% น้ำเสีย 28% พอได้กลิ่น ได้รับฝุ่น มีอาการทางร่างกายอะไรบ้าง กลิ่นเหม็นมีหลายกลิ่น ทำให้แสบจมูก ระคายคอ ผื่นคัน ภูมิแพ้ เป็นหวัดเรื้อรัง ไอเรื้อรัง เราเก็บข้อมูลทั้งหมด เรื่องแหล่งน้ำเป็นปัญหามาก ชาวบ้านทั้งหมดต้องซื้อน้ำดื่ม ดังเช่นที่จังหวัดสุรินทร์ มีโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย พบว่า 609 ครัวเรือนต้องใช้เงินซื้อน้ำดื่มรวม 1.7 ล้านบาทต่อปี” นายสมเจตน์ ไชยลาภ ผู้ประสานงานศูนย์วิจัยพลังงานยั่งยืนเพื่อท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นในเวที
 
   เขาระบุด้วยว่า ปัญหาสำคัญที่เป็นช่องโหว่ของมาตรการตรวจสอบคือ การขออนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าหากไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ กฎหมายกำหนดว่าไม่ต้องทำ EIA แต่ให้ทำ COP (Code of Practice) ซึ่งหลักเกณฑ์มาตรการควบคุมตรวจสอบจะอ่อนลงมาก กรณีของตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด พบการสร้างโรงไฟฟ้า 3 โรง ติดกัน โรงละ 9MW จึงทำไม่ต้องทำ EIA
 
   

นานาทัศนะต่อโรงไฟฟ้าชีวมวล

 
   นายอิสรา แก้วดี คณะทำงานกรณีโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลตำบลน้ำปลีก อำนาจเจริญ เล่าว่า หลังการรัฐประหารในปี 2557 มีการใช้มาตรา 44 เต็มที่ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ในพื้นที่มีการมาหลอกว่าจะสร้างอย่างอื่น ชาวบ้านจึงขายที่ให้โรงงานจำนวนมาก ราคาที่ดินก็สูงมาก เพราะนายทุนต้องการสร้างให้เสร็จภายในปี 2561
 
   ด้านนายอภิชาติ โพธิสาร ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองนาสร้าง จังหวัดร้อยเอ็ด เล่าว่า พื้นที่ 7 หมู่บ้าน มี 3 โรงงาน 3 โรงไฟฟ้าอยู่ในรัศมีห่างหมู่บ้านเพียง 100 เมตร และยังมีอีก 1 โรงสีขนาดใหญ่ ประชากร 7 หมู่บ้านรวมแล้วกว่า 10,000 กว่าคน ยาที่ขายดีที่สุดคือ ยาภูมิแพ้ ยาแก้อักเสบ พวกเขาเชื่อว่าเกิดจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 แห่ง
 
   “จัดงานแต่งงานมีโต๊ะจีนอยู่ใต้เต๊นท์ นั่งสักพัก เสิร์ฟข้าวโรยงาดำโดยอัตโนมัติ มันมาจากปล่องควัน มันเกิดมา 27 ปีแล้ว ผมเป็นผู้ใหญ่บ้านมา 11 ปี ตั้งใจแก้ปัญหานี้แต่แรก ช่วงแรกมีพวงหรีดหน้าบ้าน ต่อมามีคนเชิญขึ้นรถเสนอเงินหลักล้านให้อยู่เฉยๆ เป็นอยู่เช่นนี้มา 7-8 ปี ร้องเรียนตลอดมาก็ไม่เป็นผลจนตัดสินใจไปฟ้องศาลปกครอง” นายอภิชาติกล่าว
 
   นายธนาวุธ โนราช นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 (ขอนแก่น) นำเสนอเรื่องผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลว่า
   1. เปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตของชาวบ้านอย่างมาก จากปลูกข้าวเป็นปลูกอ้อย รวมถึงการซื้อน้ำกิน เรื่องเหล่านี้อยู่ในขอบเขต EIA หรือไม่
   2. แหล่งน้ำ ต้องดูให้รอบคอบว่าเอามาจากไหน แย่งน้ำคนในพื้นที่หรือเปล่า น้ำเสียจะเอาไปไว้ที่ไหน
   3. ขี้เถ้า มีทั้งแบบลอยบนฟ้าและตกที่พื้น ขี้เถ้าจากการใช้ไม้สักเป็นเชื้อเพลิงมี 7% แกลบ 14% ขี้เถ้าเหล่านี้นำไปไว้ในกองเก็บจะมีความเค็ม บางโรงงานน้ำในกองเก็บมีความเค็มเท่าน้ำทะเล หากหลุดออกไปในนาจะทำอย่างไร ขี้เถ้าที่ลอยก็ต้องมีระบบบำบัด นอกจากจะกำหนดการระบายแล้ว ต้องกำหนดเกณฑ์ที่ออกต่อปล่องด้วย

   4. เหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ เมื่อเกิดเหตุก็ต้องใช้งบราชการในดับไฟและยังสร้างฝุ่นมหาศาล
   5.การขนส่ง รถเพิ่มขึ้น ถนนเท่าเดิม การขยายถนนก็ใช้เงินภาษี
   6. การมีส่วนร่วม ต้องมีส่วนร่วมที่แท้จริง
   7. การติดตามผลกระทบ ควรบรรจุเงินเดือนให้คณะกรรมการติดตามผลกระทบสามฝ่ายด้วย เพราะประชาชนต้องทำมาหากิน
 
   นางวิจิตรา ชูสกุล คณะทำงานสนับสนุนกลไกกระบวนการความร่วมมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพภาคอีสาน สรุปข้อเสนอภาคประชาชนดังนี้
 
   1. การพิจารณาการก่อสร้างใดๆ ต้องคำนึงถึงผังเมืองที่ตั้ง กำลังการผลิต และการรองรับของพื้นที่ เพราะบางพื้นที่มีหายโรงในพื้นที่เดียวกัน ฝุ่นมหาศาล ยกเลิกประกาศ คสช.ที่ 4/2559 ที่ยกเว้นการใช้ผังเมืองรวมใน 5 กิจการ
 
   2. ควรมีการจัดตั้งกองทุนประเมินผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เป็นกลไกกลาง ในการสนับสนุนให้เกิดการประเมินผลกระทบ ไม่ใช่การจ้างบริษัทที่ปรึกษาโดยโรงไฟฟ้าซึ่งย่อมไม่เป็นกลาง โดยนำเงินมาจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน กองทุนรอบโรงไฟฟ้า ผู้ประกอบการ แล้วบริหารจัดการด้วยกลไกกลาง
 
   3. ต้องมีการชดเชยเยียวยาอย่างจริงจังกับผู้ได้รับผลกระทบ วันนี้แม้แต่กองทุนรอบโรงไฟฟ้าก็ยังไม่ชัดเจนที่จะดูแลสุขภาพหรือจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบ แล้วนำเงินไปดูแลการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ทำสนามบอล ซึ่งไม่ตรงกับการได้รับผลกระทบโดยตรง
 
   4. กำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย ประเทศมีไฟฟ้าสำรองเกินไปมาก การพิจารณาก่อสร้างโรงไฟฟ้าใดๆ ควรต้องคำนึงถึงดีมานด์ซัพพลายด้วย สมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีที่แล้วเสนอเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลเข้าไป มีการเสนอแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้ารายจังหวัด แต่ยังไม่ได้ขยับขับเคลื่อนแท้จริง กระทรวงพลังงานทำแผนจังหวัดแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
 
   5.กลไกการติดตามควรมีอย่างต่อเนื่อง อาจต้องมีองค์ประกอบทั้ง ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ, หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, นักวิชาการ ภาคีภาคส่วนอื่นๆ
 
   

บทบาทของ สช. กับภารกิจร่วมสำคัญ

 
   นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวปิดท้ายว่า เวทีนี้สามารถสรุปทิศทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายได้
 
   1. เร่งรัดการปฏิรูประบบ กลไก กระบวนการ การดำเนินงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้เกิดการสนับสนุนการตัดสินใจทุกระดับ ( HIA /EIA SEA /กองทุนรอบโรงไฟฟ้า)
   2. ปรับปรุงพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมประเมินกับผู้เชี่ยวชาญ เมื่อเปิดการศึกษาก็ให้ข้อเสนอแนะได้
   3. จัดให้มีการวิเคราะห์ทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ หรือผลกระทบกับโรงไฟฟ้าทุกขนาด โดยพื้นที่มีส่วนร่วมวิเคราะห์
   4. มีกลไกกำกับทิศทางเฝ้าระวังผลกระทบในพื้นที่และการเยียวยาอย่างเหมาะสม กลไกที่ว่าเป็นกลไกติดตามตรวจสอบในระยะยาว
   5. ต้องมีระบบการชดเชย เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่สามารเยียวยาได้อย่างจริงจัง
   6. มีการบรรจุแผนพัฒนาที่ยั่งยืน ในระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติ
   7. ให้ สช.ร่วมกับกลไกหน่วยงานองค์กรต่างๆ ขับเคลื่อนการใช้หลักเกณฑ์วิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพข้างต้นเพื่อเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
 
   รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยังกล่าวถึง ข้อเสนอต่อนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก สรุปได้ว่า
   1. กระบวนการชี้แจง สร้างความเข้าใจและตัดสินใจดำเนินการ ไม่รีบจนเกินไป
   2. ให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าของร่วมของโรงไฟฟ้าชุมชน ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผิดชอบ
   3. การร่วมทุนควรมีรูปแบบที่หลากหลาย ชุมชนสามารถร่วมทุนได้ทั้งรูปแบบเงิน วัตถุดิบ แรงงาน การจัดการ ที่ดิน ฯลฯ
   4. พัฒนาระบบการะบวนการเฝ้าระวังจากชุมชน
 
   ท้ายที่สุดแล้ว เส้นทางเดินของ “โรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน” จะเป็นอย่างไร เราหวังว่า เส้นทางนี้จะมี “จุดร่วมตรงกลาง” ที่ทุกฝ่าย “เห็นชอบ” ตรงกัน โดยเฉพาะ “ประชาชนในพื้นที่” ผู้คลุกคลีอยู่กับวิถีถิ่นอาศัยของพวกเขา เพื่อการพัฒนาและความสุขร่วมกันที่ยั่นยืน
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147