ถอดบทเรียน ‘สมัชชาอนามัยโลก’ ปรับตัวรับโควิด-19

   รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ถอดบทเรียน “สมัชชาอนามัยโลก” สู่การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 มีการปรับตัวรับโควิด-19 ครั้งใหญ่ ด้วยการเปิดวงถกออนไลน์เป็นครั้งแรก ร่นระยะเวลาจาก 2 สัปดาห์เหลือเพียง 2 วัน แต่ยังมีข้อจำกัด-อภิปรายไม่ครบถ้วน คาดจะเปิดประชุมอีกครั้งปลายปีนี้
 
   ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดประชุมสมัชชาอนามัยโลก ผ่านรายการ THE STANDARD Daily เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า ทุกปีๆ องค์การอนามัยโลก (WHO) จะมีการจัดสมัชชาอนามัยโลก ซึ่งจะมีผู้ตัวแทนจากประเทศสมาชิกรวมทั้งหมด 194 ประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือแสวงหาฉันทมติในบางเรื่องร่วมกัน
 
   ทั้งนี้ ตามปกติแล้ว การจัดสมัชชาอนามัยโลกจะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยใช้ระยะเวลาราว 15-18 วัน พูดคุยทั้งในด้านการบริหารจัดการ เช่น การเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่ แผนและรายงานการเงินต่างๆ รวมถึงการระดมสมองเพื่อทำงานสาธารณสุขในแต่ละด้าน ทว่าในปีนี้มีความแตกต่างออกไป เนื่องจากไม่สามารถจัดประชุมแบบปกติได้ จึงเป็นการประชุมออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยใช้เวลาเพียง 2 วัน ซึ่งจัดประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 18 -19 พ.ค.ที่ผ่านมา
 
   “เมื่อเวลาในการพูดคุยมีน้อยลง ประเด็นการพูดคุยก็จำกัด และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดออนไลน์เต็มรูปแบบ ฉะนั้นจึงอาจไม่สะดวกและเต็มที่ในด้านการแสดงความคิดเห็น เรื่อง time zone แต่ละประเทศที่แตกต่างกัน รวมทั้งเรื่องความพร้อมของเทคโนโลยีแต่ละประเทศสมาชิกด้วย จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการจัดอีกรอบในช่วงปลายปีนี้ เพราะยังมีประเด็นที่รอคอยการอภิปรายร่วมกันค่อนข้างมาก” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ ระบุ
 
   อย่างไรก็ตาม แม้การพูดคุยจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการตัดสินใจ หรือการบริหารจัดการในช่วงโควิด-19 เป็นหลัก แต่สิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือ การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งละประเทศก็มักใช้โอกาสแสดงตัวตนหรือจุดยืนเมื่ออยู่ในเวทีระดับนานาชาติ ตัวอย่างที่เกิดทุกปีก็เช่นกรณีบาทบาทไต้หวันกับความเป็นประเทศสมาชิกของจีนครั้งนี้ยังมีกรณีของสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งในช่วงโควิด-19 ตามข่าวประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามักกล่าวโทษจีนบ่อยครั้งว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตามในขณะที่อเมริกาพยายามขู่ลดบทบาทการสนับสนุนในด้านต่างๆลง แต่จีนกลับแสดงบทบาทมากขึ้น เช่น การประกาศว่าหากวัคซีนผลิตได้สำเร็จจะเป็นสมบัติของมนุษยชาติ ที่สามารถเข้าถึงได้ หรือการสนับสนุนเงินกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการช่วยประเทศอื่นสู้โควิด-19 ดังนั้นแล้วในเชิงสัญลักษณ์จีนจึงได้ใจเยอะมากขึ้น และเป็นบทบาทที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าระบบสุขภาพของโลก
 
   “ส่วนประเทศไทยเองได้รับการยอมรับและมีบทบาทสูงในเวที ซึ่งเวลาประเทศไทยมีการเสนอหรือแสดงอะไรออกไป มักจะไม่ได้พูดให้กับประเทศ แต่เป็นการพูดให้กับสังคมโลก จากประสบการณ์การทำงานของไทยเป็นเครดิตที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเยอะพอสมควร บางครั้งเราสามารถใช้ประโยชน์จากเวทีระดับโลกย้อนกลับมาดำเนินงานภายในประเทศได้ เช่น อาจบางเรื่องที่ยังผลักดันในระดับประเทศยังไม่สำเร็จ แต่เมื่อถูกนำไปพูดและนำเสนอขึ้นมาในเวทีโลก ก็อาจได้ผลในการกระตุ้นกลับมากลายเป็นทิศทางของการทำงานได้” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว
 
   ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ สรุปว่า การประชุมผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ แม้จะมีข้อดี เช่น ลดการเดินทาง ลดมลพิษ ไม่ต้องเสียเวลา แต่ก็มีข้อจำกัด เช่น time zone หรือเนื้อหาประเด็นที่ไม่สามารถพูดได้ยาวเหมือนเดิม เป็นต้น จึงมองว่า ในบางครั้งยังต้องการบรรยากาศการพบปะ การเจอหน้าพูดคุยทำความเข้าใจ ซึ่งเทคโนโลยีทดแทนไม่ได้ แต่ขณะเดียวก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกันที่จะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม ผสมผสานเพื่อเติมเต็มซึ่งกันและกัน
 
   "เช่นเดียวกับการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ปี 2563 ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแน่ๆ แต่จะเป็นการใช้เต็มรูปแบบ หรือนำมาผสมผสานอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องว่ากันต่อไป" ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว
 
   ด้าน ดร.ชลัท ประเทืองรัตนา นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงประเด็น Electronic democracy ที่กำลังจะเป็นส่วนเข้ามาเสริมการเมืองในระบบปกติ หรือระบบนักการเมืองในสภา โดยภาพที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ การประชุมรัฐสภาเสมือน หรือ Virtual Parliament ที่เป็นการประชุมออนไลน์ โดยยังมีสัดส่วนของผู้ที่เดินทางเข้ามานั่งประชุมในบางส่วน แต่ส่วนใหญ่ที่เหลือจะประชุมผ่านออนไลน์
 
   “ตอนนี้ที่แคนาดาและอังกฤษมีการนำมาใช้ เป็นระบบที่ทดลองในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่บรรยากาศของรัฐสภาที่ไม่เหมือนเดิม รวมถึงประเด็นการคัดเลือกสัดส่วนผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมที่เหมาะสม ก็ยังเป็นข้อถกเถียง ทำให้มีทั้งเสียงที่อยากให้แบบนี้ทำต่อไป กับเสียงที่อยากให้ยกเลิก จึงยังต้องพัฒนาต่อว่าระบบนี้จะใช้ไปได้ขนาดไหน” ดร.ชลัท ระบุ
 
   ดร.ชลัท กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้นอาจยังไม่จำเป็นมากนัก เนื่องจากรัฐสภามีสถานที่กว้างขวางกว่า รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดไม่รุนแรงเท่าในฝั่งยุโรป แต่ Virtual Parliament อาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งต้องดูข้อจำกัดว่าใช้ได้ในเรื่องอะไรบ้าง โดยอาจเป็นเรื่องที่ไม่ใหญ่ ไม่เกิดผลกระทบกับสาธารณะมากนัก หรืออาจนำไปใช้ในการประชุมคณะกรรมาธิการบางชุด เป็นต้น แต่ไม่สามารถนำมาใช้การโหวตเพื่อลงมติเรื่องสำคัญ ที่ยังจำเป็นต้องใช้การประชุมแบบเดิม ฉะนั้นจำเป็นต้องดูเป็นกรณีไป
 
   นอกจากนี้ ในส่วนของการพิจารณาคดีออนไลน์ หรือ E-court ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มมีการพัฒนาขึ้นมาบ้างแล้วเพื่อใช้ในบางกระบวนการ เช่น การยื่นคำร้อง การไต่สวนข้อพิพาท หรือแม้แต่การรับฟังคำพิพากษา เป็นต้น ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังศาล โดยสามารถนำมาใช้กับคดีเล็กน้อย เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาคดีจำนวนมากที่ยังค้างท่ออยู่ แต่ไม่ใช่ในโทษคดีใหญ่หรือคดีที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งยังต้องอาศัยรูปแบบปกติอยู่
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147