หลักสูตร HIA online ภายใต้สถานการณ์ Covid-19

ปัญหาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ไม่ได้จำกัดวงผลกระทบต่อระบบสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งกระทบกับระบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบเศรษฐกิจ สังคมจากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อไม่ให้การระบาดของโรครวดเร็วเกินไป โดยเฉพาะมาตรการ การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing ที่ไม่ให้ผู้คนรวมกลุ่มกันจำนวนมาก ลดการระบาดของเชื้อโรค ซึ่งส่งผลกระทบถึงกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดอบรม สัมมนา ที่ต้องยกเลิก หรือเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นหนึ่งในหลายองค์กร ที่มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรและภาคีเครือข่ายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรและภาคีเครือข่าย สามารถสร้างสรรค์งานสานพลังเพื่อสังคมได้ ในปีนี้ สช. มีกิจกรรมเสริมศักยภาพให้กับบุคลากรและภาคีเครือข่าย ให้สามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในการพัฒนานโยบายสาธารณะในระดับต่างๆในพื้นที่ได้

เดิมหลักสูตรนี้ทางคณะทำงานได้ออกแบบการเรียนรู้ผ่านการบรรยาย การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ฝึกปฏิบัติจริงในพื้นที่ ที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีมวิทยากร ผู้เรียน และพื้นที่ปฏิบัติการ แต่เหตุการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 และนโยบาย การเว้นระยะห่างทางสังคม ทาง สช. และทีมนักวิชาการ สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.) เป็นทีมงานที่ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ มีการปรับแผนและวิธีการทำงาน ออกแบบหลักสูตรและแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้การพัฒนาบุคลากรและภาคีเครือข่ายในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพยังสามารถดำเนินการไปได้

ทางคณะทำงานและเครือข่ายภาควิชาการได้ระดมความคิดออกแบบโครงสร้างเนื้อหา และการจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ทั้ง รูปแบบการสื่อสารแบบทางเดียว และ รูปแบบการสื่อสารแบบสองทาง

รูปแบบการสื่อสารแบบทางเดียว เน้นเรียนเนื้อหาเกี่ยวกับ (1) แนวคิดการการประเมินผลกระทบในแบบต่างๆ ทั้ง การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) การประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) (2) การวิเคราะห์เปรียบเทียบ ความเหมือนและต่างของการประเมินผลกระทบทั่วไป และการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ (3) การนำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ไปใช้ในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวส่วนใหญ่สามารถเรียนรู้ผ่านการบรรยายเพื่อทำความเข้าใจและปูพื้นฐานการเรียนรู้ไปในระดับต่อๆไป

รูปแบบการสื่อสารแบบสองทางผ่าน ระบบการประชุมออนไลน์ หรือ ระบบสัมมนาออนไลน์ เพื่อสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณาจารย์ และผู้เข้าอบรมที่มีประสบการณ์ในระดับพื้นที่ มีการออกแบบให้ตอบโจทย์กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้เข้าร่วมสามารถซักถาม แลกเปลี่ยน ถกแถลง ให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ภายใต้ข้อจำกัดให้มากขึ้น

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรภายหลังจากทีมงานสช.ได้ระดมความคิดเห็นบุคลากรสช.ที่ทำงานในระดับพื้นที่ ว่ามีความต้องการนำหลักสูตรไปใช้ในลักษณะใด รูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร เพื่อตอบสนองกับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางทีมนักวิชาการ สจรส. ได้รับทราบถึงความต้องการ และได้จัดประชุมยกร่างเนื้อหา สื่อการสอน และออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับทีมงาน เพื่อจัดทำหลักสูตรให้ตอบผู้เรียนต่อไป

การจัดกระบวนการเรียนรู้ลักษณะนี้เป็นความรู้ใหม่ของ สช. และภาคีเครือข่าย ที่ต้องหาวิธีการทำงานใหม่ๆ ภายใต้ข้อจำกัด และกำลังเริ่มดำเนินการและเรียนรู้ไปด้วยกัน

แม้ทุกคนต้องอยู่ห่างไกลกัน ลดการเดินทาง ลดการพบปะเพื่อลดการติดเชื้อ แต่การเรียนรู้ของเรายังไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งในสถานการณ์วิกฤติมักเป็นโอกาสให้ได้ทำสิ่งใหม่ๆ ทำให้เราได้ก้าวข้ามข้อจำกัด และค้นพบสิ่งใหม่ ที่เป็นนวัตกรรมและอาจนำมาปรับใช้กับการเรียนรู้กับภาคีเครือข่ายของ สช. ได้ในอนาคต