ตอนที่ 5 กระเบื้องมือสอง

   กระเบื้องมือสองจำนวนมากถูกเก็บจากไซต์งานก่อสร้างเพื่อส่งไปขายต่อในชุมชน ด้วยราคาที่ต่ำอย่างเหลือเชื่อจนไม่สามารถหาได้ตามท้องตลาดทั่วไปได้ ทำให้กระเบื้องเหล่านั้นได้รับความนิยมจากชาวบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
 
   พฤติกรรมการใช้กระเบื้องมือสองจึงกลายมาเป็นเรื่องปกติของคนในชุมชน โดยกระเบื้องเหล่านั้นถูกดัดแปลงไปใช้ประโยชน์หลากหลายสุดแต่ใครจะจินตนาการ บางคนเพียงแค่นำไปปรับปรุงห้องหับ แต่บางคนถึงกับนำไปใช้แทนเขียงหั่นผัก-ผลไม้ หรือในหมู่กระเบื้องที่แตกหักสภาพไม่สมประกอบ ชาวบ้านก็ยังนำไปถมที่ถมทาง
 
   ปัญหาของเรื่องทั้งหมดนี้คือความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว หากกระเบื้องมือสองเหล่านั้นมีส่วนผสมของ “แร่ใยหิน” ซึ่งแน่นอนว่ามีความเป็นไปได้สูง นั่นเพราะประเทศไทยยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้าแร่ใยหินสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก
 
   กาญจนาณัฐ อู่ทรัพย์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลยางตาล อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ เล่าถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ชนบทขาดทั้งเงินและความรู้ ทำให้เลือกใช้กระเบื้องและวัสดุก่อสร้างมือสองที่มีส่วนประกอบจากแร่ใยหินโดยไม่รู้เท่าทัน
 
   “เดิมเวลาชาวบ้านในชนบทจะใช้กระเบื้อง ส่วนมากจะใช้ของมือสองหรือของที่เขาไม่ใช้กันแล้ว แล้วมันก็จะเป็นฝุ่นละออง ทำให้คนในชุมชนเจ็บป่วยกันโดยที่ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร หรือในเด็กชนบทที่ปกติจะมีสุขภาพแข็งแรง แต่ปัจจุบันกลับพบว่าป่วยเป็นภูมิแพ้กันมาก กว่าจะรู้สาเหตุก็เมื่อได้ฟังข่าวว่าผลกระทบมาจากการใช้กระเบื้อง การใช้ของเก่าของมือสองที่เป็นฝุ่นอะไรแบบนี้”
 
   กาญจนาณัฐให้ภาพต่อไปว่า ผลกระทบยังเกิดขึ้นกับคนในชุมชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชุมชนที่มีโรงงานตั้งอยู่ในละแวกใกล้เคียง เมื่อมีการปรับปรุงรื้อถอนโรงงานก็มักจะเอากระเบื้องออกไปขายให้คนในชุมชน เมื่อคนในชุมชนไม่มีเงินไปซื้อของใหม่ ก็พากันแย่งกันซื้อของมือสอง
 
   มากไปกว่านั้น หากมีเศษเหลือเป็นขยะ ไม่มีพื้นที่ทิ้ง ก็มักถูกนำไปทิ้งในชุมชน โดยการเอามาทุบถมแทนหินอีก สุดท้ายพวกฝุ่นจากแร่ใยหินมันก็อยู่ในชุมชนไม่ไปไหน คนในชุมชนได้รับเต็มๆ
 
   ดังนั้นในมุมมองของ “กาญจนาณัฐ” แล้ว แร่ใยหินคืออันตรายที่ไม่ควรประนีประนอม เธอคิดว่าควรจะมีการยกเลิกการใช้-นำเข้า หรือ “แบน” ให้หมดไปจากประเทศไทย
 
   “อยากให้ยกเลิกไปเลย ไม่อยากให้มีการนำเข้า และทุกวันนี้ชาวบ้านก็พอจะรู้กันแล้วว่าต้นเหตุที่ทำให้ล้มป่วยกันเพราะแร่ใยหิน ก็มีการเปลี่ยนไปใช้สังกะสี หรือแผ่นเมทัลชีทแทน" ประธานสภา อบต.ยางตา ระบุ
 
   ด้านประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง สุทัศน์ เอี่ยมแสง มีความคิดเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน คือมองว่า “แร่ใยหิน” คือต้นเหตุที่ทำลายสุขภาพของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน
 
   “ถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุคือการยกเลิกการนำเข้า มันก็จะมีปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวขอเสนอให้ยกเลิกการนำเข้า เพราะตราบใดยังมีการนำเข้า ปัญหาก็เกิดกับคนงาน ถ้าเป็นไปได้ทางเราอยากเสนอว่าต้องไม่มีการนำเข้าแร่ใยหินเข้าประเทศไทยเลย มันจะตัดปัญหา และเยียวยาดูแลคนงานเราได้โดยสมบูรณ์” สุทัศน์ ระบุ
 
   สุทัศน์ เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับทราบข้อมูลการยืนยันจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคใยหินของประเทศไทย 28 ราย หลายรายป่วยเป็นมะเร็ง และมีปัญหาทางเดินหายใจ ที่สำคัญผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเป็นแรงงานที่มีประวัติการสัมผัสกับแร่ใยหินโดยตรง
 
   “เราไม่อยากเห็นพี่น้องแรงงานของเราเป็นโรคจากการทำงาน ถ้าหากว่าตราบใดที่ยังมีการใช้อยู่ ผลกระทบต่อแรงงานก็จะมีมากขึ้น และยังอาจมีโอกาสฟุ้งกระจายไปยังชุมชน อย่างการรื้อถอนบ้านเรือน เป็นต้น มันมีผลกระทบเรื่องสุขภาพในภาพรวมอยู่แล้ว ตราบใดเรานำแร่ใยหินเข้ามา เท่ากับประเทศไทยยังคงแก้ไม่ถูกจุด โรคต่างๆ ที่เรารู้อยู่แล้วก็จะเข้ามาเหมือนเดิม” สุทัศน์ ระบุ
 
   เช่นเดียวกับ สมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่เห็นด้วยว่า ควรมีการ “ยกเลิกแร่ใยหิน” เพราะมีข้อมูลถึงโทษภัยจำนวนมาก และในหลายประเทศก็มีการยกเลิกไปหมดแล้ว ขณะที่ประเทศไทยมีมติคณะรัฐมนตรี ปี 2554 ที่ให้ยกเลิกแร่ใยหิน แต่ก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นถึงล่าช้า และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 2553 ก็เห็นตรงกันว่าจะยกเลิกกันใน 5 ปี ฉะนั้นคิดว่ายังไงก็ต้องยกเลิกไปเลย อย่าให้มีแร่ใยหินอีก
 
   สอดคล้องกับความคิดเห็นจาก สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ที่แสดงความเป็นห่วงชุมชนและคนงานทั้งที่มีการปลูกสร้างบ้านเรือนหรือทำงานในสถานประกอบการ เพราะแร่ใยหินเมื่อเข้าร่างกายแล้วกว่าจะแสดงผลต้องใช้เวลานานถึง 20-30 ปี
 
   ดังนั้น จึงอยากให้กระทรวงแรงงานหรือกระทรวงสาธารณสุขติดตามทำทะเบียนผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือกลุ่มเสี่ยงเอาไว้ เพราะเท่าที่ทราบกระทรวงแรงงานเก็บประวัติคนงานแค่ 10 ปีเท่านั้น และอยากให้เพิ่มการวินิจฉัยโรคแร่ใยหินด้วย โดยฝ่ายสถานประกอบการเป็นผู้สำรองเงินในการวินิจฉัยติดตาม
 
   “ถ้าไปดูคนเป็นมะเร็งเสียชีวิตจากแร่ใยหิน มันไวมาก แปปเดียวเสียชีวิตแล้วโดยที่เราทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้นป้องกันไว้” สมบุญ ระบุ
 
   ขณะที่บางองค์กรยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการยกเลิกนำเข้าแร่ใยหิน บุญญวัฒน์ ทิพทัส จากสภาสถาปนิกให้ความเห็นว่า โดยหลักการแล้วเห็นด้วยกับการลดการใช้แร่ใยหิน แต่การทำให้ไร้แร่ใยหินเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ ปัจจุบันผ้าเบรคและคลัทช์ยังคงใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ขณะที่กระเบื้องที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินนั้นมีคนซื้อน้อยลงแต่ก็ยังมีคนซื้อ ผู้ซื้อหลักคือผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากมีราคาถูก
 
   เมธี อุทโยภาส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ เห็นว่า การยกเลิกแร่ใยหินจะเท่ากับยกเลิกอุตสาหกรรมส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศศรีลังกาซึ่งประกาศเลิกใช้แร่ใยหิน โดยยกเลิกการนำเข้าจากรัสเซีย ต่อมาไม่ถึงเดือนชาของศรีลังกาที่ส่งไปรัสเซียก็ขึ้นราเช่นกัน นี่เป็นเสมือนสงครามทางการค้าอย่างหนึ่งซึ่งไทยอาจต้องเตรียมรับมือ
 
   สุนทร สุวรรณเจตต์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการผลิตและวิศวกรรม บริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชร ไม่เห็นด้วยกับการห้ามใช้แร่ใยหิน เพราะสารทดแทนโพลีไวนิลแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์จากปิโตรเลียมนั้นยังผลิตไม่ได้ในประเทศไทย ขณะที่สารเซลลูโลสไฟเบอร์และซีเนติกไฟเบอร์ซึ่งนำมาทดแทนในการผลิตกระเบื้องมุงหลังคานั้นไม่ทนทาน ยิ่งนานยิ่งมีความเปราะ แต่กระเบื้องที่มีแร่ใยหินนั้นมีความแข็งแรงกว่าถึง 3 เท่า อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการก็ยังพยายามสร้างงานวิจัยที่จะหาสารทดแทนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันต่อไป
 
   เห็นได้ชัดว่าทุกคน-ทุกภาคส่วนเห็นพ้องร่วมกันว่าจำเป็นต้องลดปริมาณการใช้ไปจนถึง “แบน” แร่ใยหินให้หมดไปในที่สุด ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ซึ่งจะมีการพิจารณาระเบียบวาระ “ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” น่าจะได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143