อนุฯ วิชาการเห็นพ้องเปลี่ยนชื่อระเบียบวาระ ‘วิถีเพศภาวะ’

   บทบาทของสมาชิกในครอบครัว มักถูกตีกรอบโดยค่านิยม ความเชื่อ และจารีต ในฐานะที่เป็น ‘สามี-เพศชาย’ ต้องเป็นผู้นำครอบครัวที่แข็งแกร่ง ทำงานหนัก รับผิดชอบและเสียสละ ขณะที่ ‘ภรรยา-เพศหญิง’ ถูกคาดหวังให้เป็นแม่บ้านแม่เรือน หน้าที่หลักคือการเลี้ยงลูกให้ดี
 
   บทบาทเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถูกส่งต่อมาตั้งแต่อดีต สัมพันธ์กับโครงสร้างเชิงอำนาจ แต่กลับไม่สอดคล้องกับปัจจุบันเท่าใดนัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือภรรยา-เพศหญิง ที่ในวันนี้ต้องทำงานหารายได้ไม่ต่างไปจากเพศชาย หากแต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธข้อเรียกร้องเรื่องการเป็นแม่บ้านที่ดีได้ ความกดดันที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความเหน็ดเหนื่อย เครียด เพศหญิงจึงกลายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวนมาก
 
   สถานการณ์ข้างต้นเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้ร่มใหญ่คือ “วิถีเพศภาวะ” ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย เป็นเหตุให้ประเด็นนี้ถูกเสนอเป็นหนึ่งในระเบียบวาระที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 เพื่อสานพลังสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ภายใต้ชื่อ “วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาพจิตครอบครัว”
 
   อีกหนึ่งระเบียบวาระในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ ก็คือ “การทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ซึ่งที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนมาโดยตลอด แต่ก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องปรับแนวทาง-วางกลยุทธ์การขับเคลื่อนกันอีกระลอก
 
   สาระสำคัญของทั้งสองระเบียบวาระถูกนำมาพูดคุยใน การประชุมระหว่างคณะอนุกรรมการวิชาการและคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะฯ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 โดยที่ประชุมซึ่งมี รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานนท์ ประธานอนุกรรมการวิชาการฯ เป็นประธาน ได้ร่วมกันรับฟังความคืบหน้าของการจัดทำ “ร่างเอกสารหลัก-ร่างข้อมติ” พร้อมทั้งเสนอความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
 
   การประชุมเริ่มต้นที่ระเบียบวาระ “วิถีเพศภาวะ” โดย ศ.ดร.ศิริพร จิรวัฒน์กุล ประธานคณะทำงานฯ ได้อัพเดทความก้าวหน้าว่าคณะทำงานได้เปลี่ยนชื่อระเบียบวาระจากเดิมเป็น “วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว” เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและใกล้ตัวขึ้น
 
   “ในภาพรวมคนยังเชื่อว่าทุกเพศมีความเท่าเทียมกัน จึงไม่เห็นความเดือดร้อน และเมื่อมีการพูดถึงความเสมอภาคทางเพศก็จะมองเป็นการเรียกร้องสิทธิผู้หญิง หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศไป กลายเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม จึงขาดพลังการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือคนยังไม่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาวะครอบครัว นี่จึงเป็นโจทย์ที่ยาก” ศ.ดร.ศิริพร ระบุ
 
   ต่อมา คณะอนุกรรมการวิชาการทุกท่านได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นในการปรับเนื้อหาในร่างเอกสารหลักให้สั้น-กระชับ ฉายภาพที่ชัดเจนในทางปฏิบัติ การนำเนื้อหาที่อยู่ในภาคผนวก เช่น นิยามศัพท์ มาใส่ไว้ในร่างเอกสารหลักเพื่อให้คนอ่านเกิดความเข้าใจตั้งแต่แรก ส่วนร่างข้อมติที่เสนอนั้น แม้จะเขียนโดยยึด “หน่วยงาน” เป็นตัวตั้ง แต่ก็ควรจำแนกออกเป็นเรื่องๆ เช่น ระบบข้อมูล ความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะช่วยให้เกิดระบบ-ระเบียบ เป็นลำดับมากขึ้น
 
   โดยมีข้อเสนอที่น่าสนใจจาก ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ หนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ ที่ระบุว่า ในร่างข้อมติส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องมหภาค ประเด็นจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้สามารถเชื่อมโยงเข้ากับ “Family Health” ได้ จึงจำเป็นต้องแบ่งสัดส่วนในเชิงกลยุทธ์ว่า “ถ้าต้องการกินข้าวคำแรก” ควรจะมีสัดส่วนของมหภาคเท่าใด และสัดส่วนของการโฟกัสที่ Family Health เท่าใด
 
   ถัดจากนั้น ที่ประชุมได้หารือต่อในระเบียบวาระ “แร่ใยหิน” โดย ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ เลขานุการคณะทำงานฯ เล่าว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อการดำเนินยุทธศาสตร์สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินงานตั้งแต่ปี 2554 พบว่ามีเพียงบางหน่วยงานที่รับไปปฏิบัติได้ ขณะที่บางหน่วยงานไม่สามารถทำได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ อาทิ ข้อกฎหมาย อำนาจหน้าที่
 
   ขณะที่ประเด็นสุขภาพ ขณะนี้สามารถยืนยันว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคใยหินได้แล้ว ในเมื่อสถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลงไปจากปี 2553 ค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องทบทวนมติฯ อีกครั้ง โดยที่ประชุมได้หารือกันถึงความเหมาะสมของชื่อระเบียบวาระ ก่อนจะเห็นพ้องกันว่าควร “ใช้ชื่อใหม่” แทนการใช้คำว่า “ทบทวนมติฯ” และได้ข้อสรุปในชื่อ “มาตรการทำให้สังคมไทยปลอดภัยจากแร่ใยหิน”
 
   นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับฟังข้อเสนอที่สำคัญภายในร่างข้อมติฯ ใหม่ อาทิ การสนับสนุนเครือข่ายแรงงานในการเฝ้าระวังวัสดุที่มีแร่ใยหิน การกำหนดกรอบระยะเวลาการเลิกใช้เป็นวัตถุดิบ การเพิ่มบทบาทของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อจัดการขยะอันตรายจากแร่ใยหิน สนับสนุนการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัย ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้ต่อสาธารณชนในประเด็นดังกล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143