‘ธรรมนูญตลาดจินดา’ จุดประกายเยาวชนพัฒนานโยบายสาธารณะ

   สช. จัดเวิร์คช็อปเยาวชน “โครงการ Young ทำได้” 41 ชีวิตร่วมเรียนรู้กระบวนการสานพลัง-จัดทำนโยบายสาธารณะ เรียนรู้ผ่านรูปธรรม “ธรรมนูญตำบลตลาดจินดา” กลไกคลี่คลายปัญหาน้ำเสีย อ.สามพราน จ.นครปฐม
 
   ในระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2562 กลุ่มเยาวชน “โครงการ Young ทำได้” รวม 41 ชีวิตที่ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ครั้งที่ 1 ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ณ สามพราน ริเวอร์ไซด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม
 
   หัวใจหลักของการเรียนรู้ภายใต้โครงการนี้ คือ แนวคิดการทำงานแบบสานพลังภาคีเครือข่าย (Networking) และกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่เยาวชนกลุ่มนี้ได้ศึกษาอย่างใกล้ชิดคือ “ธรรมนูญตำบลตลาดจินดา”
 
   ตำบลตลาดจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม เคยมีปัญหาความไม่ไว้วางใจกันระหว่างชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน โดยมีต้นเหตุจากปัญหาน้ำเสียในลำรางสาธารณะ ซึ่งเกิดกระบวนการเรียกร้องและปะทุเป็นความขัดแย้งที่มากขึ้นเรื่อยๆ
 
   เตชิต ชาวบางพรหม ผู้ชำนาญการ สช. ฉายภาพให้เยาวชนเห็นถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ อันนำไปสู่การตกลงระหว่างผู้นำชุมชนที่เห็นพ้องในการจัดทำ ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ เพื่อเป็นเวทีกลางในการพูดคุย ซึ่งภายใต้กระบวนการได้เชื่อมโยงทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันยกร่างธรรมนูญฯ จนนำไปสู่การประกาศใช้ในที่สุด
 
   ธรรมนูญตำบลตลาดจินดา ฉบับที่ 1 ประกาศใช้ในปี 2560 ซึ่งกระบวนการตลอดระยะเวลา 3 ปีในการจัดทำมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนมีพื้นที่กลางในการพูดคุยกันมากขึ้น นำไปสู่การทำข้อตกลงเพื่อคลี่คลายปัญหาร่วมกัน
 
   “การมีธรรมนูญฯ อาจไม่ใช่เป้าหมาย สิ่งสำคัญคือกระบวนการระหว่างนั้น จากเดิมที่โดนชาวบ้านตั้งคำถามว่าจะทำไปเพื่ออะไร ไม่เห็นจะช่วยแก้ปัญหาอะไรได้ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการจัดทำ มีการพูดคุยกันมากขึ้น ปัญหาและความต้องการของแต่ละคนได้มาเจอกัน สุดท้ายทุกวันนี้ชุมชนต่างมีความสุข ไม่ต้องมาประท้วงปิดโรงงานเหมือนเดิม” เตชิต ขมวดประเด็น
 
   ขณะเดียวกัน กิติ วัตรเอก ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญตำบลตลาดจินดา ได้ให้ข้อมูลเสริมให้เยาวชนเห็นภาพขั้นตอนของการขับเคลื่อนที่อาศัยการกระจายความรู้ เริ่มจากการเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหัวหน้าองค์กร มาร่วมกันเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อน ที่จะเป็นผู้นำข้อมูลต่างๆ กระจายลงไปต่อสู่ชุมชน
 
   “หัวใจสำคัญที่ต้องมาเป็นอันดับหนึ่งของการประสานงานภายในตำบล คือความสามัคคี” กิติ ระบุ
 
   สำหรับการเรียนรู้ในวันนี้ กลุ่มเยาวชนในโครงการได้มาเยี่ยมเยียนโรงงานของ บริษัท ฟู้ดสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ “ดีโด้” ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการจัดทำธรรมนูญ โดยปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการน้ำเสียให้แก่หน่วยงานต่างๆ
 
   เมื่อโรงงานขนาดใหญ่ซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 160 ไร่ ตั้งอยู่ในตำบล ที่ผ่านมาบริษัทฯ จึงกลายเป็นคู่ขัดแย้งของชาวบ้านในฐานะตัวการปลดปล่อยน้ำเสีย แต่เพราะปัญหาน้ำเสียไม่ได้มาจากโรงงานแห่งเดียว แต่ในตำบลยังมีโรงงานอีกกว่า 16-17 แห่ง ไม่นับรวมภาคครัวเรือน และภาคการเกษตรที่มีการทำบ่อกุ้ง หรือบ่อหมึก
 
   ภายหลังการร่วมกันขับเคลื่อนธรรมนูญตำบลตลาดจินดา โรงงานได้เข้ามามีส่วนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในการปรับปรุงลำรางสาธารณะ มีการขุดลอกทุกปี พร้อมกับการฟื้นฟูถนนรอบโรงงานในช่วงฤดูฝน รวมทั้งการสนับสนุนกิจกรรมในชุมชนมากมาย
 
   จิตรคุปต์ ทองขาม รองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญตำบลตลาดจินดา ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาแต่ละฝ่ายจับมือกันไม่ได้เพราะทุกคนไม่เปิดใจ แต่เมื่อเกิดธรรมนูญฯ ขึ้น ตนในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมจึงรวบรวมสมาชิก เพื่อร่วมกันพิสูจน์ให้ชุมชนเห็นว่าโรงงานเหล่านี้ไม่ใช่นายทุนจากที่อื่น แต่เป็นคนบ้านเดียวกัน
 
   “เราคุยกันว่า ถ้าวันนี้ไม่เริ่มต้นทำบ้านของเราให้ดีก่อน แล้วเราจะไปทำธุรกิจที่อื่นได้อย่างไร เมื่อคุยกับผู้บริหารก็ยินดีทำโรงงานเป็นต้นแบบให้คนเข้ามาศึกษา ให้เป็นแบบอย่างแก่หน่วยงานหรือโรงงานอื่นๆ ที่มาเยี่ยมชม ว่าเราได้สร้างมาตรฐานโรงงานที่อยู่ร่วมกับชุมชนไว้อย่างไร” จิตรคุปต์ ระบุ
 
   บทเรียนที่เกิดขึ้นในตำบลแห่งนี้ คือองค์ความรู้ที่เยาวชนในโครงการที่สัมผัสด้วยประสบการณ์ตรง และได้กลับมาร่วมกันสรุปบทเรียน พร้อมฝึกฝนการออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางสานพลัง เพื่อท้ายที่สุดจะสามารถบรรลุเป้าประสงค์ของการใช้พลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในการก้าวข้ามขีดจำกัดต่างๆ ไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมต่อไป
 
   กิจกรรมการ Workshop ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของกระบวนการทั้งหมดที่จะจัดขึ้นรวม 4 ครั้ง ซึ่งเยาวชนทั้ง 41 รายยังจะได้เข้ามาร่วมกันเรียนรู้และฝึกปฏิบัติในครั้งถัดไป ระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคม 2562
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143