จัดงานใหญ่ขับเคลื่อน ‘ระบบอาหารโรงเรียน’

   สังคมออนไลน์ช่วงนี้ มีบ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นการแชร์ภาพอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ โดยเมนูอาหารเหล่านั้น นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังครบถ้วนไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น
 
   ทว่าในสังคมออนไลน์เดียวกันนี้ มีไม่น้อยเช่นกันที่ปรากฏข่าวและเรื่องร้องเรียนกรณีการทุจริตงบประมาณอาหารกลางวันเด็ก โดยการนำเสนอมักจะมาพร้อมกับภาพเมนูอาหารที่ดูแล้วน่าเป็นห่วง
 
   น้อยคนจะรู้ว่า เด็กไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์อาหารและโภชนาการที่ไม่สู้ดีนัก โดยมีข้อมูลระบุว่า เด็กไทยอายุ 1-14 ปี รวมแล้วประมาณ 1.5 ล้านคนที่เข้าข่ายอ้วน เตี้ย ผอม กว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งหมดนี้ มีต้นเหตุจากการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมครบถ้วนตามวัย
 
   มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 6.5 ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการคลี่คลายสถานการณ์ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ทำหน้าที่หนุนเสริมให้ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนพัฒนาระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยหนึ่งในการดำเนินการที่สำคัญคือ การร่วมดำเนินงานในพื้นที่นำร่องระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน จังหวัดสุรินทร์ โดยมีวิธีการต่างๆ เช่น โปรแกรม Thai School Lunch ที่ช่วยคำนวณคุณค่าทางโภชนการของเมนูอาหารต่างๆ ส่งต่อไปยังผู้ผลิตวัตถุดิบหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งบริหารจัดการอาหารโดยใช้ครัวกลางแล้วแจกจ่ายไปยังโรงเรียนในเครือข่าย หรือประสานพลังความร่วมมือของชุมชนในการผลิตวัตถุดิบที่ปลอดภัยและมาร่วมทำอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน เป็นต้น จนในที่สุด ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับทราบและเห็นความสำคัญ จึงมีข้อสั่งการให้ทำการขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมทั้งประเทศต่อไป
 
   เพื่อให้เกิดการขยายผลในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการตามข้อสั่งการข้างต้น จึงเป็นที่มาของ
การประชุมหารือเตรียมการออกแบบการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการขยายผลการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมว่าด้วยเรื่อง ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนและชุมชน ซึ่งมี ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ เป็นประธาน พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประชุม โดยมีการหารือถึงร่างข้อเสนอเชิงนโยบายและปฏิบัติการในการพัฒนาระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนและชุมชน เพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานกลไกที่มีผลทางปฏิบัติ พร้อมกับที่มีการร่างแนวทางการยกระดับและขยายผลรูปธรรมทั้งในระดับนโยบายและในระดับจังหวัด

 
   “เนื่องจากรัฐมนตรีท่านใหม่เป็นคนที่ทำงานเร็ว ตัดสินใจเร็ว หากมีนโยบายที่ชัดเจนก็เดินหน้าเลย จึงคิดว่า เราควรต้องรีบทำงานหนักในช่วงนี้ เพราะถือเป็นโอกาสที่เราจะได้เสนอนโยบายบางเรื่องให้สามารถขับเคลื่อนออกไป โดยเฉพาะเรื่องของอาหารกลางวันเด็กที่เราทำงานมานาน ซึ่งมุ่งหวังว่าภายในวันงานเราจะได้ข้อเสนอการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรม พร้อมส่งต่อให้กับรัฐบาลได้ทันที” ดร.จิราพร กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการจัดงาน
 
   หนึ่งในความเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายของ ปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) มองว่า (ร่าง) ข้อเสนอที่ได้ทำกันมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ยังเขียนแบบกว้างๆ ไม่เห็นประเด็นที่ต้องการการจัดการที่ชัดเจน จึงเสนอให้ทบทวนโดยวิเคราะห์ความสอดคล้องกับนโยบายเร่งรัด 12 ข้อของรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี การกำหนดธงหรือเป้าหมายร่วมที่ชัดเจน เช่น ภาพของโรงเรียนทั้งหมดจะต้องมีการปรับภายในระยะเวลาเท่าใด ต้องทำให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อส่งต่อกระทรวงหลักที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับไปทำได้ทันที ไม่ต้องมีการตามยื่นอีกครั้งภายหลัง
 
   ขณะที่ตัวแทนจากฝ่ายการเมือง อารยะ โรจนวณิชชากร ที่ปรึกษา รมช.สาธารณสุข เสนอให้มีการเพิ่มอีกหนึ่งกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่จะมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนระบบจัดการอาหารในโรงเรียนและชุมชน โดยเฉพาะโปรแกรม Thai School Lunch ภายใต้การพัฒนาของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
 
   ที่ประชุมยังได้หารือถึงประเด็นปัญหาต่างๆ อาทิ การกำหนดระดับความปลอดภัยของอาหารว่าเป็นระดับปลอดสารพิษหรือถึงระดับอินทรีย์ ระบบการจัดสรรงบประมาณที่ยังคงไม่เพียงพอสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงหนทางการสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงส่วนร่วมจากชุมชนและเกษตรกร ตลอดจนการจัดหาวัตถุดิบอาหาร
ที่ปลอดภัยให้เพียงพอต่อการดำเนินงาน

 
   สำหรับข้อสรุปจากการพูดคุย รวมถึงข้อมูลจากภาคีเครือข่ายตลอดระยะเวลาราว 2 สัปดาห์จากนี้ จะถูกนำไปประมวลและจัดทำร่างข้อเสนอออกมาอีกครั้ง พร้อมกับการปรับรูปแบบและรายละเอียดของงานประชุมในปลายเดือนกันยายนที่จะมาถึง อันจะเป็นอีกขั้นของความก้าวหน้าและพัฒนาเด็กไทยได้อย่างมีคุณภาพ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143