ส่อง สุรินทร์โมเดล จัดการอาหารในโรงเรียน เพื่ออนาคตเด็กไทย

   แต่ละปีประเทศไทยมีเด็กปฐมวัยราวๆ 7 แสนราย ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่กำลังเผชิญอยู่กับปัญหาโภชนาการไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหา “พัฒนาการล่าช้า” และ “มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ” โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
 
   ยังไม่นับปัญหาอื่นๆ ที่เด็กตัวน้อยๆ มีโอกาสจะได้รับจากการบริโภคอาหาร เช่น สารเคมีที่ปนเปื้อนกับผักผลไม้ สี/สารปรุงแต่งอาหาร เป็นต้น ที่มีผลทำร้ายสมอง-ร่างกายโดยตรง
 
   จากปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 เรื่อง ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน นำมาซึ่งการจัดทำพื้นที่นำร่องในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งกว่า 5 ปีของการสานพลังทุกภาคส่วนในพื้นที่สู่การแก้ไขปัญหา จนสามารถขยายผลได้ครอบคลุมในหลายท้องถิ่นท้องที่ ในขณะเดียวกัน ก็มีการขยับในอีก 3 จังหวัดข้างเคียงในเขตนครชัยบุรินทร์ภายใต้นโยบายจากส่วนกลาง
 
   เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 สช. จึงจัด การประชุมแลกเปลี่ยนผลการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ว่าด้วยเรื่องระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน โดยมี รศ.ภญ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ด้านสังคมและสุขภาวะ เป็นประธาน โดยมีการถอดบทเรียนการดำเนินงานของสุรินทร์ทั้งในระดับโรงเรียน ชุมชน ตำบล จังหวัด ต่อด้วยรูปแบบการดำเนินงานจากผู้แทนใน 3 จังหวัดในเขตนครชัยบุรินทร์ที่มีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ และการซักถาม อภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อวิเคราะห์กลไกและกระบวนการดำเนินงาน บทเรียนความสำเร็จ สู่การขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
 
   หากเทียบเคียงตั้งแต่ปี 2556 ที่มีมติฯ มาจนถึงปัจจุบัน จะพบว่า ในอดีตการทำงานเป็นไปอย่างกระจัดกระจาย ไม่มีเจ้าภาพหลัก ไม่มีแผน ไม่มีโครงสร้าง โรงเรียนจึงเป็นตัวจักรเดียวในการขับเคลื่อน ทว่าหลังจากที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดกระบวนการและเชื่อมร้อยการทำงาน
 
   ที่สำคัญคือ ความร่วมมือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และการหนุนเสริมจากทั้งภาควิชาการ ภาคประชาสังคมในจังหวัด จนเกิดโครงสร้างการทำงานร่วมกันทุกระดับทุกภาคส่วน นำไปสู่การเกี่ยวร้อยมติฯ เข้ากับยุทธศาสตร์ของจังหวัด และประเด็นการขับเคลื่อนของสภาพลเมืองจังหวัด และใช้เครื่องมือ “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” เข้ามาสนับสนุนการทำงาน
 
   อาจารย์จิราพร สรุปบทเรียนว่า ปัจจัยความสำเร็จของ จ.สุรินทร์ มีด้วยกัน 3 ประการ คือ 1) ผู้นำ 2) การทำงานเป็นกระบวนการ เป็นระบบ มีเป้าหมาย มีตัวชี้วัด มีผลลัพธ์ และ 3) ใช้ทุนทางสังคมให้เป็นประโยชน์
 
   จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า อุปสรรคที่สำคัญในการทำงานมี 3 เรื่องใหญ่ คือ 1) ความเข้าใจของโรงเรียนในการใช้ประโยชน์จากโปรแกรม Thai School Lunch ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค พัฒนาต่อยอดมาจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากจะช่วยในการเซตเมนูอาหารกลางวันที่คำนวณคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้ใช้ได้สะดวกและเข้าถึงได้ง่ายแล้ว โปรแกรมนี้ยังสามารถใช้ในการบริหารจัดการระบบการผลิตของเกษตรกรได้ด้วย 2) ระเบียบวิธีการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/โรงเรียน และ 3)ระบบการตรวจสอบการใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุกจริตแห่งชาติ (ปปช.)
 
   และเสนอให้ ทบทวนระบบการจัดสรรงบค่าอาหารให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม พัฒนารูปแบบการจัดอาหารให้เหมาะสมกับบริบทของขนาดโรงเรียน ตลอดจนผลักดันให้เรื่องการจัดการอาหารโรงเรียนเป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมทั้งเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศควบคุมการขนส่งนมโรงเรียน และให้สุ่มตรวจนมโรงเรียนที่โรงเรียนแทนสุ่มตรวจที่แหล่งผลิต
 
   วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี นำเสนอข้อมูลสะท้อนถึงสภาพของปัญหาได้เป็นอย่างดี จากผลการสำรวจของมูลนิธิการศึกษาไทย ในปี 2561 พบผักผลไม้ในอาหารกลางวันโรงเรียนถึง 63% ที่ไม่ปลอดภัยในปี 2562 Thai-PAN สำรวจพบผักผลไม้ในตลาด 41% มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดล พบคลอร์ไพริฟอส (สารเคมี) ในขี้เทาทารกแรกเกิดถึง 32.4%
 
   วิฑูรย์ วิเคราะห์ว่า ปัญหาเกิดจากทั้งนโยบายรัฐที่ขาดความเหมาะสมและการนำไปปฏิบัติ การจัดการอาหารโดยชุมชนขาดการสนับสนุนจากท้องถิ่นและขาดต้นแบบ พันธุ์พืชสูญหายและถูกรวมศูนย์ ตลอดจนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีอันตราย รวมทั้งระบบการกระจายอาหารที่ยังไม่ครอบคลุม
 
   นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นและร่วมกันนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนมติฯ โดยข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ ควรสร้าง “เกษตรกรคุณธรรม” คือ มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นทุกๆตำบล และขยายไปสู่การทำกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อความยั่งยืน รวมทั้งขยายภาพการทำงานจากที่มองเรื่องอาหารโรงเรียนอยู่ในระดับประถมศึกษา ควรมองไกลออกไปทั้งระบบไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย และควรหาทางเลือกให้กับสถานศึกษาทั่วไปด้วย ที่สำคัญคือ ผู้ที่ประกอบกิจการอาหารในโรงเรียนควรมี License หรือใบอนุญาตที่มีมาตรฐาน
 
   บทเรียนที่ได้จากการประชุมฯ ครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลตั้งต้นในการออกแบบกระบวนงานขับเคลื่อนมติฯ เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายในทางปฏิบัติ สู่การขยายพื้นที่การดำเนินงานต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143