เมื่อ “รัฐ – อปท.” หนุนเสริม ‘ชุมชน’ ชี้ขาดความสะอาดในพื้นที่

   “ขยะมูลฝอย” สร้างผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและอ้อมกลับมาทำลายสุขภาพ อีกทั้งปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนดูเหมือนว่าไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ทั้งประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของภาครัฐที่ไม่สามารถรองรับปริมาณของขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ประกอบกับพฤติกรรมการทิ้งและไม่คัดแยกขยะที่เอื้ออำนวยต่อระบบการจัดการ ทำให้ประเทศไทยมีขยะตกค้างรอกำจัดอีกไม่น้อยกว่า 10 ล้านตัน
 
   เพราะทุกคนเป็นแหล่งต้นกำเนิด “ขยะมูลฝอย” จึงเป็นปัญหาของคนทุกคน ที่ต้องร่วมมือกัน ในการจัดการอย่างเข้มข้น จริงจัง
 
   จึงเป็นที่มา มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เรื่อง การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน ที่หยิบยกประเด็นปัญหาสถานการณ์ของปริมาณและการจัดการขยะมูลฝอยในทุกประเภท ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า “การมีส่วนร่วม” ของ “ชุมชน” จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 สช. ได้จัด ประชุมแลกเปลี่ยนผลการขับเคลื่อนตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2560 ว่าด้วยเรื่อง การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ซึ่งมี ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล อนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านสังคมและสุขภาวะ เป็นประธาน โดยมีหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในทุกข้อมติ และผู้แทนจากพื้นที่ต้นแบบที่มีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนที่มีประสิทธิภาพเข้าร่วม
 
   ที่ประชุมได้ร่วมกันอัพเดทสถานการณ์และประมวลความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในทุกระดับตั้งแต่แผนปฏิรูปประเทศไทย นโยบายระดับชาติจากกระทรวงต่างๆ สู่ระดับจังหวัด ถ่ายระดับลงสู่อำเภอ ผ่าน พชอ. ลงสู่ตำบลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การมีคู่มือ-หลักเกณฑ์-แนวทางในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยจากหน่วยงาน/สถาบันวิชาการ โดยมีผู้แทนจาก 2 อำเภอพื้นที่ต้นแบบ คือ พื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี มาร่วมถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเติมเต็มข้อมูลการขับเคลื่อนฯ
 
   ผู้แทนจาก อำเภอเกาะสมุย กล่าวว่า ชุมชนเกาะสมุย ได้รณรงค์ขับเคลื่อนโดยเฉพาะการลดขยะเปียก ซึ่งได้รับความร่วมมือที่ดีจากคนในชุมชนนำเอาขยะอินทรีย์มาผลิตปุ๋ย ไปจนสู่การเพาะหนอนแม่โจ้ ขายได้กิโลกรัมละกว่า 60 บาท โดยการขับเคลื่อนต่างๆ จากเดิมที่ได้รับความรวมมือจาก 39 ชุมชน ปัจจุบันขยายเป็น 118 ชุมชนในส่วนกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม/ร้านอาหารได้ทำการคัดแยกขยะ นำขยะเปียกทำปุ๋ยหมัก ผู้ประกอบการบนถนนคนเดิน ลงทุนซื้ออุปกรณ์ผลิตก๊าซชีวภาพจนผลผลิตที่ได้ทุกวันนี้เหลือใช้ ขณะที่องค์ความรู้ของพนักงานในสถานประกอบการโรงแรม ยังได้รับการต่อยอดเป็นกิจกรรมสอนน้องในโรงเรียน และเด็กเหล่านี้สามารถนำไปถ่ายทอดสู่พ่อแม่ผู้ปกครอบได้อีกครั้ง
 
   ขณะเดียวกันยังมีการจับมือกับกลุ่มซาเล้งกว่า 300 ราย ที่เข้ามาช่วยในการคัดแยกกองขยะ จนสามารถสร้างรายได้มากถึงเดือนละ 4-5 หมื่นบาทต่อคัน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้รับซื้อของเก่าอีกกว่า 10 กลุ่ม โดยกระบวนการต่างๆ สามารถช่วยแบ่งเบาภาระขยะของเกาะสมุยลงไปได้กว่าเดือนละ 1,000 ตัน ซึ่งเป้าหมายที่ต้องแก้ไขต่อไปในขณะนี้ คือปัญหาพื้นที่ฝังกลบขยะบนเกาะที่มีอยู่เพียง 30 ไร่ เชื่อว่าในอนาคตจะต้องให้เกิดการใช้เตาเผาขยะที่มีคุณภาพ
 
   ทางด้านตัวแทนจาก อำเภอพนัสนิคม กล่าวว่า พนัสนิคมเป็นเมืองขนาดเล็ก มีพื้นที่เพียง 2.76 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในอดีตประสบปัญหามลพิษจากขยะและผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เข้าร่วมโครงการประเมินเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนและพัฒนาเมืองให้ยั่งยืนภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเริ่มจากการพูดคุยกับประชาคม จนได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน ซึ่งต่างเห็นด้วยกับการลดจำนวนถังขยะสาธารณะเนื่องจากมีส่วนทำให้ปริมาณขยะสูง โดยเปลี่ยนเป็นการให้ถังคัดแยกตามครัวเรือนและนัดเวลาในการเก็บ ปรากฏว่า สามารถลดปัญหาขยะจาก 20 ตันต่อวันเหลือเพียง 12 ตัน มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเป็นเทศบาลขนาดกลางที่ได้รับรางวัลเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ และขยายผลเป็นศูนย์เรียนรู้เมืองต้นแบบสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในระดับอาเซียน
 
   ทั้งหมดนี้ เกิดจากนายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคมที่ให้ความสำคัญและเป็นผู้นำในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม มีการออกนโยบายต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประชาชนในพื้นที่ชุมชนเกิดความเคยชินที่ต้องทำให้บ้านเมืองของตนให้สะอาด
 
   หลังจากฟังการถอดบทเรียนของ 2 พื้นที่นำร่องแล้ว ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงข้อกังวลเรื่องระเบียบและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการทำงาน เช่น ไม่สามารถจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพได้ ทั้งๆ ที่ท้องถิ่นมีงบประมาณและศักยภาพ ตลอดจนต้องการแก้ไขปัญหาก็ตาม
 
   ที่ประชุมยังมีความเห็นร่วมกันอีกด้วยว่า แม้หน่วยงานท้องถิ่นจะเป็นตัวหลักในกระบวนการ แต่การมีส่วนร่วมของชุมชนจะเป็นตัวตัดสินว่าการดำเนินงานจะสามารถสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงวิธีการ “จูงใจ” ชุมชนผ่านการออกแบบประเด็นการสื่อสาร โดยเห็นพ้องว่า “ผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม” เช่น การสร้างรายได้จากการแยกขยะ จะมีพลังมากกว่าการสื่อสารเรื่องไกลตัว เช่น วิกฤตโลกร้อน
 
   ในช่วงท้าย ที่ประชุมแสดงความเห็นพ้องว่า ที่ผ่านมา มีการขับเคลื่อนมติฯ การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืนครบในทุกข้อมติ ทั้งการกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนในระดับชาติและถ่ายระดับลงสู่ภูมิภาคท้องถิ่น ซึ่งดำเนินการอย่างจริงจังกว้างขวาง แม้ยังมีข้อติดขัดอยู่บ้าง แต่ต้องทะลุทะลวงด้วยการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงประสบการณ์-วิธีการ-กลไก-กระบวนการ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานองค์กรภาคีที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และมอบให้ สช. ประมวลภาพรวมสถานการณ์และวิเคราะห์ความสำเร็จที่เชื่อมโยงกับข้อมติฯ เสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) เพื่อพิจารณายกระดับการติดตามผลการขับเคลื่อนฯ ในการประชุมครั้งต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143