ขับเคลื่อน ‘ยุทธศาสตร์สุขภาวะชุมชน’ เกิดกลไกเพียบ

   เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ‘ชุมชนท้องถิ่น’ มีความสำคัญในฐานะรากฐานของสังคม และรากฐานที่แข็งแรงเท่านั้นจึงจะสามารถรองรับโครงสร้างที่สูงใหญ่ได้
 
   อย่างไรก็ดี การมุ่งเน้นที่จะให้ความสำคัญเฉพาะแต่กับส่วนบน และบริหารจัดการแบบ “บนลงล่าง” ย่อมไม่เป็นผลดีกับประเทศในระยะยาว เพราะนอกจากจะเป็นการ “ตัดเสื้อโหล” ให้ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีความแตกต่างและหลากหลายใส่แล้ว ยังเป็นการบริหารที่ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วม
 
   ด้วยเห็นพ้องว่า ชุมชนท้องถิ่นมีพลังและคือทางออก จึงเป็นที่มาของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และการลงนามใน “ปฏิญญาสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖/๒๕๕๖ เรื่องยุทธศาสตร์ร่วมว่าด้วยการสนับสนุนระบบสุขภาวะชุมชน” เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดความความเข้มแข็งอย่างแท้จริง พร้อมกำหนดเป้าหมายในระยะ 5 ปี และ 10 ปี
 
   การขับเคลื่อนงานเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยในมหกรรมชุมชนสุขภาวะ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา มีองค์กรภาคีผู้สนับสนุนชุมชนแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นจากเดิม 33 หน่วยงาน เป็น 41 หน่วยงาน ส่วนสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ได้ลงนามในปฏิญญาฉบับดังกล่าวมีมากถึง 234 กลุ่มเครือข่าย ซึ่งร่วมกันกำหนดเป้าหมายสร้างความเข้มแข้งให้องค์กรชุมชนทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ภายในปี 2567
 
   ต่อมา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 สช. ได้จัด ประชุมแลกเปลี่ยนผลการขับเคลื่อนตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2556 เรื่อง แผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน ที่มี นายเจษฎา มิ่งสมร อนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านสังคมและสุขภาวะ เป็นประธาน เพื่อติดตามความคืบหน้า พร้อมอัพเดทการทำงานของแต่ละหน่วยงานอย่างใกล้ชิด อาทิเช่น
 
   ดร.วณี ปิ่นประทีป รายงานว่า สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(LDI) แกนนำหลักในการขับเคลื่อนฯ ได้พัฒนาฐานข้อมูลองค์กรชุมชนในระบบดิจิทัลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน และติดตามประเมินระดับความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน พัฒนากลไกร่วม “รวมแสงเลเซอร์” เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ พร้อมทั้งจัดประชุมองค์กรภาคีและดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
 
   นางสาวพัชรา อุบลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมสุขภาวะ (สอปร.)สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า ตลอดระยะเวลาการขับเคลื่อนนับตั้งแต่ปี 2556-2562 ได้เกิดนวัตกรรมขึ้นอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ประสานงานภาคีการพัฒนาจังหวัด (ศปจ.) เครือข่ายพลเมืองอาสา (ประชารัฐ) ตลอดจนเครือข่ายธรรมนูญสุขภาพตำบล อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะต้องช่วยกันมองเพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนต่อไปก็คือ จะทำอย่างไรให้นวัตกรรมเหล่านี้สามารถหนุนเสริมกันและกัน หรือผลจากสิ่งหนึ่งไปหนุนเสริมอีกสิ่งหนึ่ง
 
   นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รายงานว่า ปัจจุบันมีการสอดแทรกเรื่องตำบลปลอดภัยเข้าไปยังเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และได้ประสานเครือข่ายภาคประชาชนในการขับเคลื่อน โดยตัวอย่างตำบลปลอดภัย อาทิ พื้นที่วัดปราศจากควันธูปเพื่อป้องกันมะเร็ง การกำจัดยุง หนู แมลงสาบ ลดไข้เลือดออก ตลอดจนการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน
 
   “ปัจจัยความสำเร็จคือการเริ่มจากข้างล่างขึ้นข้างบน ใช้ปัญหาของชุมชนเป็นตัวตั้งและร่วมกันหาวิธีแก้ไข การทำให้เกิดระบบสุขภาพชุมชนยั่งยืนจะทำเรื่องสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีหลายมิติที่เกี่ยวข้อง ทั้งการศึกษา สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ฉะนั้นคำถามสำคัญคือ เราจะสานพลังเพื่อเชื่อมกลไกต่างๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกันให้เสริมแรงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลได้อย่างไร”
 
   นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สช. กล่าวว่า หัวใจหลักของกระบวนการ คือ การเชื่อมโยงและบูรณาการการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ภายใต้เป้าหมาย “ประชาชนสุขภาพดี มีระบบสุขภาพชุมชนที่ยั่งยืน” เพื่อให้เกิด Health in All Policy หรือทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติฯ ได้วางกรอบไว้กว้างๆ หลายหน่วยงานมีวิธีดำเนินการ แต่เป้าหมายอาจยังไม่ชัดเจนมากนัก ซึ่งความก้าวหน้าที่เห็นของแต่ละพื้นที่ แต่ละหน่วยงาน แต่ผลจากการรวมพลังเหล่ายังไม่สูงเท่าใด ในเวลาที่เหลืออีก 5 ปีควรต้องมีการปรับเพิ่มยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนเชิงโครงสร้าง ทบทวนบทบาทของศูนย์กลาง เพราะถ้าเชื่อว่าจะใช้ชุมชนเป็นฐานจะต้องปรับในแง่แนวคิดการส่งเสริมชุมชนจริงๆ พร้อมดัดแปลงเครื่องมือให้กว้างและหลวมพอ
 
   “ที่สำคัญคืออย่างน้อยต้องให้ 2 องค์ประกอบ คือ ชุมชนและท้องถิ่นทำงานร่วมกัน โดยใช้ทรัพยากรและองค์ความรู้ ภายใต้การสนับสนุนของส่วนกลาง จะต้องหาทางทำให้ชุมชนทำงานร่วมกับท้องถิ่น และมีกลไกการต่อรองกับส่วนกลางเพื่อปรับบทบาทต่างๆ ให้สอดคล้องกับที่ท้องถิ่นต้องการ”
 
   อย่างไรก็ดี เพื่อให้ผลการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะชุมชนถูกนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ปลายปีนี้ องค์กรภาคีจะร่วมกันส่งสรุปความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของหน่วยงาน เพื่อให้ สช. นำข้อมูลไปประมวลเป็นลำดับถัดไป
 
   ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้ร่วมกันระดมความคิดวางจังหวะแนวทางการขับเคลื่อนในระยะต่อไป โดยหมุดหมายหลังจากนี้ คือ การร่วมพูดคุยกันอีกครั้งในงาน มหกรรมชุมชนสุขภาวะครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 17-19 กันยายน 2562 ซึ่งจะมีการจัดฐานการเรียนรู้ บอกเล่าภารกิจของแต่ละองค์กร เชื่อมโยงภาคีให้เกิดการพบปะ มีกระบวนการแลกเปลี่ยนนำจุดดีจุดด้อยต่างๆ มาร่วมเรียนรู้และหนุนเสริมการทำงานซึ่งกันและกันต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143