‘คำนิยาม’ ดูแลแบบประคับประคองฉบับทางการของไทย

   ว่ากันตามคำจำกัดความของ องค์การอนามัยโลก (WHO) การดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) หมายถึง การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคที่รักษาไม่หายด้วยการป้องกัน บรรเทาอาการ ตลอดจนบรรเทาความทุกข์ทรมานด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น นับเป็นการดูแลแบบองค์รวมครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพ อันได้ แก่ กาย ใจ ปัญญา และสังคมของผู้ป่วย
 
   ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีการพูดถึงการดูแลรักษาแบบประคับประคองมากขึ้น แต่กลับพบปัญหาเรื่องการตีความที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการที่ล้วนแต่ตีความไปตามบริบทและอำนาจหน้าที่ของตัวเอง
 
   ที่สำคัญก็คือ ปัจจุบันประเทศไทยยังใช้คำนิยามตามที่ WHO กำหนดโดยไม่มีการจำกัดความเป็นของตัวเอง นั่นยิ่งทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของระบบบริการสุขภาพเท่าใดนัก และอาจนำไปสู่การดูแลรักษาแบบประคับประคองที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด มี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา เป็นประธาน ทำหน้าที่จัดทำคำนิยามปฏิบัติการ (Operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคองของประเทศไทย
 
   การทำงานเพื่อจัดทำคำนิยามเป็นไปอย่างแข็งขันและต่อเนื่องยาวนานมากว่า 1 ปี ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง จนเกิดเป็นร่างนิยามปฏิบัติการของคำที่เกี่ยวข้องฯ และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ก็ได้ประชุมร่วมกันเป็นนัดแรกของปี 2562 เพื่อพิจารณาร่างนิยามปฏิบัติการของคำที่เกี่ยวข้องฯ ฉบับดังกล่าว
 
   นพ.สุพรรณ กล่าวว่า การจัดทำคำนิยามในครั้งนี้ จุดมุ่งหมายสูงสุดคือจัดทำขึ้นมาแล้วจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติได้จริง และช่วยให้หน่วยงานราชการต่างๆ เข้าใจและเกิดการยอมรับร่วมกันในทิศทางเดียวกัน
 
   “ถ้ายังตีความไปคนละอย่าง หรือถ้า สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ยังมองว่าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นไม่สามามารถนำงบประมาณมาใช้ในเรื่องนี้ได้ มันก็จะเป็นประเด็นต่อไปอีก” นพ.สุพรรณ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาในปัจจุบัน
 
   สำหรับร่างนิยามของคำที่เกี่ยวข้องฯ มีด้วยกันทั้งสิ้น 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ภาวะผู้ป่วย (Patient Status) ซึ่งพูดถึงความสำคัญที่จะตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการดูแล จะทำให้เข้าใจว่าควรจัดการดูแลและบริการให้กับคนกลุ่มใดบ้าง ส่วนที่ 2 ผู้เกี่ยวข้องในการดูแล (Care Person) โดยเน้นไปที่บุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่ 3 Care and Service คือจะบอกว่าจะดูแลแบบไหนบ้าง ดูแลอย่างไร ส่วนที่ 4 Ethics and Medico-legal ว่าด้วยจริยธรรมและกฎหมาย
 
   โดยในแต่ละส่วนจะประกอบด้วยคำศัพท์ต่างๆ รวมทั้งหมด 40 คำ ซึ่งการเขียนคำนิยามเหล่านั้นตั้งอยู่บนหลักการกระชับที่สุด สื่อความหมายตรงกันมากที่สุด และลดปัญหาเรื่องของการใช้ดุลยพินิจให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายต่อนิยามศัพท์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการต้องตีความเพิ่มเติม และอาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจที่ตรงกัน รวมไปถึงคำที่จะไม่ตรงกับระเบียบราชการที่มีอยู่เดิม
 
   ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปคือการนำร่างนิยามปฏิบัติการของคำที่เกี่ยวข้องฯ ไปรับฟังความคิดเห็นในระดับชาติ ก่อนจะส่งต่อเข้าสู่สมัชชาเฉพาะประเด็น หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถนำคำนิยามดังกล่าวไปประกาศใช้ได้ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ภายในปี 2562 นี้
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143