สช.ยกเครื่องการสื่อสาร ‘สิทธิตายดี’ จัดทำ ‘Sit-com’

   “สิทธิการตายตามธรรมชาติ” ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 รับรองสิทธิให้ทุกคนสามารถทำ “หนังสือแสดงเจตนา” ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตได้
 
   นั่นสะท้อนถึงความก้าวหน้าของประเทศไทย สะท้อนถึงการให้ความเคารพในสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นมนุษย์
 
   ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะกลไกหลักภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนเรื่อง “สิทธิการตายตามธรรมชาติ” อย่างจริงจัง และยังร่วมกันสื่อสารกับสังคมอย่างเข้มข้น
 
   ดอกผลในแง่หนึ่ง คือการปลุกให้สังคมเกิดการตื่นตัว รับรู้ และเข้าใจว่าทุกคนมีทางเลือกในวาระสุดท้ายของชีวิต
 
   อย่างไรก็ดี การสื่อสารเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและโลกเต็มไปด้วยช่องทางอันหลากหลาย การสื่อสารจึงต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงในยุคสมัย
 
   นั่นคือสาระสำคัญตอนหนึ่งในการประชุม คณะกรรมการที่ปรึกษาการส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ นัดที่ 2 ประจำปี 2562 ซึ่งมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
 
   ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายถึงแนวทางการสื่อสารเรื่องสิทธิการตายดีให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการถอดบทเรียนของนักวิชาการด้านการสื่อสารที่เข้าร่วมประชุม ชี้ว่า สช. มีข้อมูลที่ดีแต่ประชาชนกลับยังเข้ามาไม่ถึง เปรียบเทียบได้กับมีบ้านที่สวยแต่คนยังหาทางเข้ามาไม่ได้ และการเน้นหนักที่สื่อออนไลน์จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเพียงบางส่วนเท่านั้น
 
   พร้อมกันนี้ ยังพบอีกว่าเรื่องมาตรา 12 เป็นเรื่องที่ไกลตัวของผู้ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์หรือมีคนใกล้ตัวป่วยในระยะสุดท้าย รวมถึงการใช้นิยามศัพท์ว่า “พินัยกรรมชีวิต” อาจเป็นคำที่สื่อความหมายคลาดเคลื่อน
 
   จากนั้นที่ประชุมจึงได้ร่วมกันพิจารณา “โครงการจัดทำหลักสูตรออนไลน์ของมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งระยะเบื้องต้น สช. จะสานพลังกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพจัดทำละครรูปแบบ Sit-com หรือ Situation Comedy จำนวน 20 ตอน มุ่งหวังให้ผู้รับสารซึมซับข้อมูลและเกิดการบอกต่อ เพราะจากข้อมูลทางการตลาดพบว่าคนไทยชอบเรื่อง “ตลก” ที่แฝงไปด้วยเนื้อหาสาระ
 
   นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แจ้งเวียนแนวทางการปฏิบัติงานตามกฎกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 12 โดยได้นำข้อเสนอจากการประชุมร่วมระหว่าง สช. กับ สธ. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มาพิจารณา
 
   ข้อเสนอดังกล่าว มีด้วยกัน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) สธ.ควรแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนมาตรา 12 ตามประกาศกระทรวง 2) สธ.ต้องสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้เกิดการพัฒนาบริการในทุกระดับเพื่อรองรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างสมบูรณ์
 
   3) สช.ควรจัดเวทีสาธารณะ สร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ และพัฒนาองค์ความรู้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน 4) สช.ควรจัดให้มีศูนย์หรือบุคลากรให้คำปรึกษาเรื่องมาตรา 12 ตามประกาศกฎกระทรวง
 
   ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการตั้งประเด็นจากปัญหาการทำงานจริงในพื้นที่ ซึ่งพบว่าผู้ปฏิบัติในพื้นที่ยังขาดแนวทางการปฏิบัติในการจัดทำหนังสือแสดงเจตนา (Living will) ว่าควรจะทำอย่างไร เพราะ Living will ไม่มีฟอร์มที่ตายตัว
 
   ทั้งนี้ พบว่าในบางพื้นที่มีการจัดทำ Living will ในแบบฉบับของตัวเอง แต่เมื่อประชาชนนำ Living will ที่ทำขึ้นในพื้นที่ออกไปนอกพื้นที่แล้ว พื้นอื่นๆ ก็จะไม่เข้าใจ ดังนั้น สธ.จึงควรออกแบบแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ด้วย
 
   ในส่วนของการสื่อสารทางสังคม สช.ได้บอกเล่าถึงการทำงานว่า นอกจากการจัดเวทีวิชาการ และทำสื่อต่างๆ แล้ว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา สช. ได้เปิดให้บริการระบบถามตอบอัตโนมัติทางโทรศัพท์ เลขหมาย 02-832-9100 ซึ่งภายในระบบจะให้บริการถามตอบสำคัญๆ อาทิ ทำความรู้จักมาตรา 12 ตายดีเตรียมได้อย่างไร การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่รับการรักษาเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง รวมถึงการติดต่อเจ้าหน้าที่
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143