ขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย Knock door พรรคการเมืองแบนสารเคมี

   คงไม่จำเป็นต้องอธิบายความสำคัญเรื่องเกษตรและอาหารปลอดภัยให้มากความ เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่า นั่นหมายถึง “ชีวิต - ลมหายใจ” ของพวกเราทุกคน
 
   “เกษตรและอาหารปลอดภัย” นับเป็นหนึ่งใน “กลุ่มมติ” สมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมโดยเร็ว อย่างจริงจัง และยั่งยืน
 
   โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานการณ์สารเคมีกำลังท่วมท้นผืนแผ่นดินไทย การขับเคลื่อนประเด็นนี้จึงมีเดิมพันที่สูง จังหวะและการกำหนดเส้นทางขับเคลื่อน (Roadmap) จึงต้องแหลมคม
 
   สำหรับกลุ่มมติฯ เกษตรและอาหารปลอดภัย มีด้วยกัน 4 มติฯ ได้แก่ มติ 1.5 เกษตรและอาหารในยุควิกฤต มติ 5.5 ความปลอดภัยทางอาหาร: การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มติ 5.8 การพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร มติ 8.1 สุขภาวะชาวนา: การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา ทั้งหมดนี้ จะถูกขับเคลื่อนผ่านหลักการ “3 ก.” ซึ่งประกอบด้วย ก.กฎ/กติกา-ก.การบังคับใช้-ก.การก่อการดี
 
   หลักการ “3 ก.” นี้คือ ฐานคิดหรือตัวตั้งในการออกแบบเส้นทางการขับเคลื่อน (Roadmap) ซึ่ง
ในการประชุมปรึกษาหารือและระดมความคิดเพื่อยกระดับการขับเคลื่อนตามเป้าหมาย เส้นทาง Roadmap นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม กลุ่มประเด็นเกษตรและอาหารปลอดภัย ที่มี รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านสุขภาพสังคมและสุขภาวะ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ผู้แทนจากหน่วยงานองค์กรและภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมได้อภิปรายและมีข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนร่วมกัน ดังนี้

 
   ในส่วนของ ก. แรก หรือ ก. “กฎ/กติกา” ประเด็นสำคัญอยู่ที่การผลักดันร่างกฎหมาย 3 ฉบับ คือ
(ร่าง) พ.ร.บ.ความปลอดภัยจากการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช พ.ศ. .... (ร่าง) พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน
พ.ศ. .... และ (ร่าง) พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. .... โดยที่ประชุมมีมติเสนอให้จัดทำเอกสารสรุปหลักการและเหตุผล พร้อมสาระสำคัญของกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ และแนบ (ร่าง) กฎหมาย เผยแพร่ให้ภาคีเครือข่ายที่เคลื่อนไหวในประเด็นเกษตรและอาหารปลอดภัยได้รับทราบและทำความเข้าใจถึงเป้าประสงค์ของการออกกฎหมาย และหากเป็นไปได้ ควรจัดเวทีชี้แจง รับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ (ร่าง) พ.ร.บ.ข้าว ที่ภาคีภาคประชาชนยังมีความเห็นแย้ง

 
   สำหรับ ก. “การบังคับใช้” เพื่อให้มาตรการ “ลด-ละ-เลิก” การใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด คือ ไกลโฟเสต พาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส เกิดผลได้จริง ที่ประชุมเสนอให้เข้าพบพรรคการเมืองที่มีนโยบายเรื่องการ “ลด-ละ-เลิก” สารเคมีทางการเกษตร โดยจัดทำเอกสารข้อมูลเชิงวิชาการถึงผลกระทบจากสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดที่ชัดเจนมีหลักฐานที่น่าเชื่อถืออ้างอิง พร้อมทั้งเอกสารวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับใช้ประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของหน่วยงานองค์กรที่รับผิดชอบภายใต้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้พรรคการเมืองพิจารณานำไปดำเนินการต่อไปได้
 
   ส่วน ก. สุดท้าย คือ “ก่อการดี” หมายถึง การขยายผลปฏิบัติการทางนโยบายเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ผ่าน (1) กลไกดำเนินงานในระดับต่างๆ อาทิ เขตบริการสุขภาพ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด เครือข่าย 4PW คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ/ระดับเขต (พชอ./พชข.) ฯลฯ และ (2) การดำเนินงานภายใต้ภารกิจของหน่วยงานต่างๆ เช่น โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย โครงการเด็กไทยแก้มใส เป็นต้น โดยที่ประชุมเสนอให้ Mapping พื้นที่และข้อมูลการดำเนินงานที่สำคัญ พร้อมสังเคราะห์เพื่อหาพื้นที่ตัวอย่างที่มีรูปธรรมความสำเร็จในการบริหารจัดการอาหารปลอดภัยอย่างครบวงจร สู่การถอดบทเรียนความสำเร็จเพื่อนำไปขยายผล โดยให้มีผู้แทนจากหน่วยงานองค์กรภาคีต่างๆ ร่วมเป็นคณะทำงานในเรื่องนี้
 
   นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้พิจารณา “ทบทวน” มติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้ง 4 มติให้เท่าทันต่อสถานการณ์และแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง หากเป็นไปได้ ควรพิจารณาควบรวมให้เป็นมติเดียวกัน
 
   อย่างไรก็ดี ที่ประชุมเห็นว่า ทั้ง 4 มตินี้ มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องหารือทีละกลุ่ม ประกอบกับรัฐบาลใหม่อาจจะมีนโยบายที่เกี่ยวข้อง จึงมีข้อเสนอให้นำประเด็นนี้เข้าหารือใน “ห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติฯ” ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ก่อน และหากมีข้อสรุปร่วมกันที่ชัดเจน จึงค่อยเสนอเข้าสู่กระบวนการทบทวนมติฯ เพื่อเสนอเป็นระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 13 ต่อไป
 
   ในช่วงท้ายการประชุม ดร.วณี ปิ่นประทีป ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงาน ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ให้ความมั่นใจว่า จากการทำงานกับภาคีเครือข่ายทุกจังหวัด เครือข่ายภาคประชาสังคมแทบทุกแห่งกำลังให้ความสำคัญ และพร้อมให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนประเด็นเกษตรและอาหารปลอดภัยร่วมกัน
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143