ห่วงนโยบายดูแลชาวต่างชาติกระทบผู้ป่วย ‘บัตรทอง’

   การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในมุมหนึ่งก็คือการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างกันโดยมีมิติความสัมพันธ์และมิติเชิงอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการได้มาซึ่งบางสิ่งบางอย่างย่อมหมายถึงการแลกเปลี่ยนด้วยบางสิ่งบางอย่างออกไป
 
   หลากหลายประเด็นเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศเต็มไปด้วยข้อห่วงใยและข้อกังวล เราจึงคุ้นเคยกับข่าวตามหน้าสื่อที่มักตั้งคำถามถึงความสมดุลระหว่างการได้มาและการเสียไปอยู่เสมอ
 
   หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ตัวเลขทางเศรษฐกิจ’ กับ ‘ผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน’
 
   เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ซึ่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้นัดหารือกันเป็นครั้งที่ 2 ของปี 2562 สาระสำคัญของการพูดคุยคือการติดตามดอกผลจากการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ รอบ 10 ปีแรก และการติดตามสถานการณ์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
 
   การประชุมเริ่มต้นด้วยการเห็นพ้องของสมาชิกให้ รศ.ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นประธานนั่งหัวโต๊ะเพื่อดำเนินการประชุมในระหว่างที่ยังไม่ได้ “ประธาน” ตัวจริง ภายหลัง ดร. ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการได้ขอลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปปฏิบัติภารกิจ สว.
 
   จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเรื่องคุณสมบัติของประธานคนใหม่เพื่อเสนอชื่อต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติให้พิจารณาเห็นชอบและลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ต่อไป โดยที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดคุณสมบัติของประธานว่า ต้องมีความอาวุโส สามารถเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนได้ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการค้าระหว่างประเทศ เคยอยู่ในคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) หรือคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่รับฟังด้วย
 
   “ที่ประชุมนี้จะออกข้อเสนอไปสู่หน่วยงาน องค์กร หรือสังคม จึงจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนด้วยจิตใจที่เป็นกลาง” เป็นหัวข้อหนึ่งในการอภิปรายถึงคุณสมบัติประธาน ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ฝ่ายเลขานุการจะพิจารณาบุคคลตามคุณสมบัติดังกล่าวเพื่อเสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติพิจารณาต่อไป
 
   ในส่วนผลการดำเนินงานตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ของคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพนั้น ที่ประชุมเห็นว่ามีความสำเร็จมากมาย และเห็นควรให้ความสำคัญกับเผยแพร่ข้อมูลและความรู้ต่างๆ ที่ได้จากการทำงานของคณะกรรมการฯ โดยควรจัดทำเป็นสื่อสำหรับเผยแพร่ผ่านในช่องทางต่างๆ ที่เข้าใจง่ายและสะดวกต่อการเข้าถึง นอกจากนี้ ควรมีการประเมินด้วยว่าข้อเสนอต่างๆ ที่ได้มาจากคณะกรรมการฯ นั้น นำไปสู่การปฏิบัติมากน้อยเพียงใด
 
   ขณะที่ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ต่างยืนยันว่า การทำงานของคณะกรรมการฯ มีประโยชน์ และได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการพิจารณาเพื่อดำเนินการเสมอ
 
   พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันรับฟังรายละเอียดของอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) เพิ่มเติมจากการประชุมครั้งที่แล้ว โดยครั้งนี้มี ธิดากุล แสนอุดม ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร มาเป็นผู้บอกเล่า ซึ่งกรรมการฯ ได้ร่วมกันซักถามข้อห่วงใยในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นข้อพึงระวังและข้อเสียเปรียบของเกษตรกรตัวเล็กตัวน้อยในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ที่เกรงว่าจะถูกผูกขาด
 
   ช่วงท้ายของการประชุม ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ. 2560-2569 ซึ่ง เสาวภา จงกิตติพงศ์ ผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มาให้ภาพของความนิยมและการเติบโตของธุรกิจด้านสุขภาพในปัจจุบัน ซึ่งสืบเนื่องมาจากเทรนด์การท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่เปลี่ยนแปลงไป มีความนิยมท่องเที่ยวแบบ Wellness Tourism มากขึ้น โดยทั่วโลกสร้างมูลค่ามากกว่า 649 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในส่วนของ Medical Hub ประเทศไทย นั้น พบว่าในปี 2560 ทำรายได้มากถึง 1.1 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 แสนล้านบาทในปี 2561
 
   ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายถึงปัญหา-อุปสรรค ตลอดจนโอกาสและความเสี่ยงจาก Medical Hub พร้อมแสดงความห่วงใยในประเด็นทรัพยากรบุคคลในระบบสุขภาพอาจไม่เพียงพอกับการให้บริการชาวต่างชาติ ตลอดจนการประกาศตั้ง “ศูนย์บริการสุขภาพชาวต่างชาติ” ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง ที่อาจกระทบต่อการเพิ่มภาระงาน การขาดแคลนบุคลากร และกระทบต่อการให้บริการผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมประชาชนคนไทยมากถึง 48 ล้านคน
 
   ที่สุดแล้ว คณะกรรมการฯ เห็นตรงกันว่าเรื่อง Medical Hub เคยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปแล้ว เมื่อปี 2553 จึงจำเป็นต้องเดินตามกรอบดังกล่าว ทว่าประเด็นเหล่านี้มีความละเอียดและซับซ้อน ที่ประชุมจึงนัดหมายให้มีการหารือเป็นการเฉพาะอีกครั้งในวันที่ 26 ก.ค. ที่จะถึงนี้ โดยความคิดเห็นและข้อเสนอที่เกิดขึ้นจะถูกบันทึกและนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ชุดใหม่และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติต่อไป
 
   คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ เคาะสเปก “ประธาน” กรรมการคนใหม่ “อาวุโส-เชื่อมโยงเครือข่าย-มีความรู้-นักฟังที่ดี” ก่อนชงให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้ง พร้อมแสดงความกังวลต่อผลกระทบทางลบจากอนุสัญญา UPOV และนโยบาย Medical Hub
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143