คมส. สานพลัง ‘ท้องถิ่น’ เร่งเครื่องขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ ด้านการแพทย์

   คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข เปิดฉากพูดคุยนัดแรก อัพเดทความคืบหน้า “ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง-ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ” พร้อมพิจารณาแนวทางสร้างรูปธรรมการขับเคลื่อนมติฯ “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ-ทันตกรรม” โดยมี “ท้องถิ่น” เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงาน
 
   ระยะเวลาตลอด 11 ปี ของการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ นับตั้งแต่ พ.ศ.2551 เป็นต้นมา ประเทศไทยมี “มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” แล้วทั้งสิ้น 81 มติ ในจำนวนนี้ราวๆ กึ่งหนึ่งเป็นมติที่เกี่ยวข้องกับ “การแพทย์และสาธารณสุข” ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเกี่ยวข้องกับ “สุขภาพสังคมและสุขภาวะ”
 
   แต่ละปี เมื่อสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มี “ฉันทมติ” ร่วมกันในระเบียบวาระใดวาระหนึ่งแล้ว มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ได้จะถูกนำไป “ขับเคลื่อน” ให้เป็นรูปธรรมผ่านกลไกที่มีชื่อว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ซึ่งมีอนุกรรมการ 2 ชุด แบ่งตาม 2 หน้างานข้างต้น
 
   เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา หนึ่งในสองคณะอนุกรรมการ คมส. คือ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข ได้จัดประชุมกันนัดแรก โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ ได้อัพเดทประเด็น “ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง พ.ศ. 2561-2570” ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการระดับชาติให้ความเห็นชอบ และส่งให้ สธ. และหน่วยงานหลักอีก 21 แห่งรับทราบและขับเคลื่อนต่อไปแล้ว โดย นพ.ศุภกิจ เน้นย้ำว่า ยุทธศาสตร์นี้โฟกัสที่เขตเมืองซึ่งยังมีช่องว่างเรื่องคนเข้าไม่ถึงบริการอยู่
 
   ที่ประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงแนวทางการขับเคลื่อน โดยเห็นพ้องว่าหนึ่งในหัวใจของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์คือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” และมีข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ การผลักดันให้ยุทธศาสตร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งในความสนใจของสภาท้องถิ่น เพื่อขยายผลให้กลายเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นต่อไป รวมถึงการสร้างโมเดลนำร่องเพื่อให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งที่มีความแตกต่างกันหยิบไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง
 
   อีกหนึ่งเรื่องสำคัญ คือการจัดทำ ร่าง แผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ (พ.ศ.2564-2570) มีข้อเสนอที่แหลมคมคือการนำองค์ความรู้ด้าน “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” มาผนวกใช้ในการทำงาน และการสานพลังภาคส่วนของนักพฤติกรรม สื่อมวลชน และท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุน
 
   ถัดจากนั้น ที่ประชุมได้หารือถึงเป้าหมายและการขับเคลื่อนมติฯ ที่จัดลำดับความสำคัญเพื่อขับเคลื่อนแบบเร่งด่วน (Quick win) ใน 3 กลุ่มมติ อันประกอบด้วย NCDs การโฆษณาที่ผิดกฎหมายของผลิตภัณฑ์อาหารและยาฯ และบริการปฐมภูมิ/ระบบสุขภาพเขตเมือง รวมทั้งสิ้น 13 มติ ก่อนจะเข้าสู่วาระเพื่อ “พิจารณา” นั่นก็คือ แนวทางการขับเคลื่อน 2 มติฯ ที่ได้ฉันทมติจากงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2561
 
   เริ่มด้วยมติ 11.3 ความรอบรู้ด้านสุขภาพฯ ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ อาทิ “กรมอนามัย” ที่บอกเล่าถึงการใช้ AI ดักจับข้อมูลที่เป็นเท็จ มาตรการ Stop source ข้อมูลที่บิดเบือน ตลอดจนอุปสรรคของการสื่อสาร และปัจจัยความสำเร็จที่ผูกโยงกับ “กลไกระดับพื้นที่-ท้องถิ่น” การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยกำหนดสุขภาพ การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน “กรมควบคุมโรค” เล่าถึง แผนการดำเนินงานและแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อที่มีเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพบรรจุอยู่ในนั้น
 
   ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อนุกรรมการ ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลกพบว่า “ข่าวเท็จ” ชนะ “ข่าวจริง” เสมอ จึงเสนอแนวทางการจัดการ เช่น มาตรการบล็อกไม่ให้ข่าวเท็จเข้าสู่ระบบ ซึ่งทำได้หลากหลาย การเปิดช่องทางการสื่อสารกลับของผู้บริโภค สร้าง information ที่ดี ขณะที่ ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอว่า สธ. ควรทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์หลักในการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน
 
   สำหรับมติ 11.4 การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมและป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดปัญหาทันตกรรมซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง และเห็นควรใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งเชื่อมโยงกับวาระการประชุมลำดับสุดท้ายคือ แนวทางการบูรณาการขับเคลื่อนมติฯ ระดับพื้นที่ผ่านกลไก พชอ. ซึ่งในวันที่ 26-27 มิ.ย.นี้ จะมีการจัดงาน Kick off “สานพลังการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เชื่อมโยงกลไกและประเด็น: ชาติ-จังหวัด-พื้นที่” เพื่อสร้างความชัดเจนในการขับเคลื่อนงานต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143