ประชุมคณะทำงานเร่งด่วน สื่อออนไลน์กับเด็ก

   ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดและความฉับไวของการสื่อสารเพียงแค่
ปลายนิ้วสัมผัส นำมาซึ่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อสุขภาวะผู้ใช้งาน โดยเฉพาะกับ “เด็ก” ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากวุฒิภาวะยังไม่เพียงพอและพัฒนาการทางสมองยังเติบโตไม่สมบูรณ์

 
   แน่นอนว่า หากรู้เท่าทันและใช้งานอย่างสร้างสรรค์ สื่อออนไลน์ย่อมเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ แต่จากผลการสำรวจเรื่อง “สถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ ประจำปี 2561” โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ มูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ทำให้ต้องกลับมาร่วมกันทบทวนเพราะมีข้อกังวล
บางประการ เพราะความคิดเห็นของเด็กส่วนใหญ่มองเห็นประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตมากกว่าโทษ และมีเพียง 11.7% เท่านั้นที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนหรือทำงาน มากไปกว่านั้น ยังพบว่ามีเด็กมากถึง 29.3% ที่เล่นอินเทอร์เน็ตมากกว่าวันละ 6-10 ชั่วโมง และอีก 37.5% ที่เล่นมากกว่าวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่ามีความเสี่ยงที่ “เด็กจะติดเกม”
 
   นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่ามีเด็ก 1 ใน 3 ที่มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ และมีเด็กอีก 1 ใน 3 ที่มีพฤติกรรมเคยกลั่นแกล้งผู้อื่นทางออนไลน์เช่นกัน
 
   ประเด็นเรื่องเด็กกับสื่อออนไลน์เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รอไม่ได้ ทางคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะทำงานประเด็นเร่งด่วนสื่อออนไลน์กับเด็กและเยาวชน” ขึ้น โดยมี ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก เป็นประธาน เพื่อทำงานในเชิงรุก และเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะทำงานชุดนี้ได้ประชุมนัดแรกไป และจะประชุมเป็นประจำทุกเดือนเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์
 
   “สื่อออนไลน์สามารถส่งผลกระทบต่อ กาย ใจ สังคม ปัญญา อารมณ์ ได้ และการต่อต้านยับยั้งคงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ประเด็นจึงอยู่ที่จะลดผลกระทบด้านลบของสิ่งเหล่านี้” สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะรองประธานคณะทำงานฯ ระบุ
 
   ประเด็นเด็กกับสื่อออนไลน์ เกี่ยวโยงกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อย่างน้อย 3 มติ ประกอบด้วย มติ 1.9 ผลกระทบจากสื่อต่อเด็กเยาวชนและครอบครัว มติ 5.9 การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง : กรณีเด็กไทยกับไอที และ มติ 11.2 ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก
 
   ฉะนั้น มติสมัชชาสุขภาพ 3 มตินี้ จะถูกนำมาใช้เป็นฐานการทำงานของคณะทำงานฯ ควบคู่ไปกับองค์ความรู้และข้อมูลทางวิชาการอีก 2 ส่วน ได้แก่ รายงานการวิเคราะห์ข่าวสารรายสัปดาห์โดยศูนย์โคแพท (COPAT) และรายงานผลสำรวจโดยมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย
 
   ในการประชุมนัดแรก ได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์ ข่าวที่น่าสนใจและผลการสำรวจของ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช ซึ่งได้รับมอบหมายให้วิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นภาพปรากฏการณ์ของสังคม ก่อนจะเข้าสู่ระเบียบวาระ “แผนการดำเนินงานยกร่างมาตรการและแผนปฏิบัติการความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ต” ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 11.2 ซึ่งมีฉันทมติไปเมื่อปลายปี 2561
 
   สาระสำคัญในการประชุม คือ การใช้ “กลไกในพื้นที่” เพื่อขับเคลื่อนประเด็น โดยที่ประชุมมองว่า จำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อกระตุ้นให้กลไกต่างๆ ในจังหวัด ทั้งกลไกราชการและภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบาย ในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งต่อไป จะจัดทำแผนวิเคราะห์ศักยภาพของแต่ละกลไกว่าอยู่ในระดับใด เพื่อเตรียมสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการที่เหมาะสมต่อไป และที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินงานฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนมิถุนายน นี้
 
   ทั้งนี้ หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจคือ เสนอให้จัดทำแผนปฏิบัติงานที่กำหนดเป้าหมายและบูรณาการงานร่วมกัน เป็นแผนที่เชื่อมโยงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเรื่องเด็กกับสื่อออนไลน์ โดยแผนนี้จะเป็น “แผนเหนือแผน” ที่หมายถึง แผนปฏิบัติการใหญ่ที่อยู่เหนือแผนปฏิบัติการย่อยของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งที่ประชุมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็นและเห็นชอบให้ดำเนินการ เพราะแผนปฏิบัติการร่วมจะช่วยเป็นฐานตั้งให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ขอรับการสนับสนุนจากงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลได้ต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143