จับมือภาคีเปิดวงขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ

เกาะติด 4PW

   พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราตั้งแต่ตื่นเช้าจนกระทั่งเข้านอน ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับ NCDs หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แทบทั้งสิ้น
 
   ในแต่ละวันเราจึงสุ่มเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันประกอบด้วย เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดสมอง มะเร็งชนิดต่างๆ ไม่มากก็น้อย ตั้งแต่หมูปิ้ง-หมูกระทะไหม้เกรียม ไปจนถึงน้ำตาลในกาแฟ น้ำชง ชาไข่มุก หรือความเค็มในมื้ออาหาร ตลอดจนพฤติกรรมเนือยนิ่งบนเก้าอี้ทำงาน และหลังพวงมาลัยรถยนต์
 
   นอกจากปัจจัยเสี่ยงที่โอบล้อมเราแล้ว ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ NCDs ยังเต็มไปด้วยความสับสนปนเป เรายังพบการแชร์ข้อมูลที่เป็นเท็จ เช่น น้ำมะนาวรักษามะเร็ง หรือยาผีบอกต่างๆ นานา เกลื่อนโลกโซเชียล และมันยังรุกคืบเข้ามาถึงในห้องไลน์ของครอบครัวของเรา
 
   ความร้ายกาจของโรค NCDs คือเป็นสาเหตุการตายของคนไทย 70% จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคน-ทุกฝ่ายต้องช่วยกันยับยั้ง โดยเฉพาะสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้เกิดขึ้น และนั่นคือที่มาของการมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติที่ 11.3 ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ ที่ได้รับฉันทมติร่วมกันในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2561
 
   “ถึงเราจะมีมติแล้ว แต่ถ้าไม่ขับเคลื่อน มตินั้นก็จะอยู่แค่ในกระดาษ ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับขาเคลื่อนเป็นอย่างมาก” อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในที่ประชุมปรึกษาหารือการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2561 มติ 3 ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562
 
   การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ตรงตามชื่อการประชุม คือการหารือเพื่อ “ขับเคลื่อนมติ” ให้เกิดการปฏิบัติจริง ดังนั้นจุดเน้นของการตั้งวงพูดคุยในครั้งนี้ จึงอยู่ที่การกำหนด “เป้าหมาย” ตามรายข้อมติอย่างเป็นรูปธรรม
 
   “สิ่งที่เราต้องช่วยกันคือการตอบให้ได้ว่า อะไรคือความสำเร็จที่เราต้องการเห็นตามข้อมตินั้นๆ เพราะบางข้อมติยังเขียนในลักษณะที่เป็นนามธรรมอยู่” อรพรรณ ในฐานะประธานการประชุม เน้นย้ำ
 
   การพูดคุยในครั้งนี้ นับเป็นการพูดคุยครั้งแรกหลังจากมีมติไปเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว การแลกเปลี่ยนจึงตั้งต้นจากข้อมูลของ สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ทำความเข้าใจความสำคัญและรายละเอียดของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจน “ผังเส้นทางการขับเคลื่อน (Road Map)” ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือ ประชากรในประเทศมีความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับจัดการตนเองให้ห่างไกลปัญหาโรคไม่ติดต่อ
 
   การประชุมเป็นไปอย่างมีส่วนร่วม ผู้แทนหน่วยงานที่เป็นแม่งานหลักในแต่ละรายข้อมติได้บอกเล่าถึงการทำงานซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนมติไว้อย่างน่าสนใจ เช่น ผู้แทนจากกรมควบคุมโรค (คร.) ที่เล่าว่า ทุกวันนี้ คร.มีแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ยุทธศาสตร์โรคไม่ติดต่อแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือ และปัจจุบันก็มีคณะทำงานที่ทำเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพอยู่ ทว่ายังมีช่องว่างเรื่องกลไกการแก้ไขปัญหาและการรับเรื่องร้องเรียน
 
   สำหรับผู้แทนกรมอนามัย เล่าว่า ทางกรมอนามัยได้ทำงานภายใต้แผนปฏิรูปประเทศ ข้อ 1 คือการพัฒนากลไกข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ โดยมีการพัฒนาระบบข้อมูล เช่น การตอบโต้ความเสี่ยงด้านความรอบรู้สุขภาพ (RRHL) ตลอดจนการนำ AI เข้ามาช่วยในการดักจับข้อมูลอันเป็นเท็จ
 
   ขณะที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อัพเดทว่า ในปี 2562 นี้ มีแผนที่จะร่วมกับภาคีเครือข่ายและช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพื่อดำเนินการเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “พฤติกรรม” ซึ่งส่งผลต่อ NCDs โดยจะมี Message หลักใช้ในการเผยแพร่เป็นภาพใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศ
 
   จากการพูดคุยทีละข้อมติฯ ที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า แต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนมติจะกลับไป Mapping สิ่งที่ตัวเองดำเนินการอยู่ ก่อนจะนำมาเชื่อมร้อยกับองค์กรอื่นๆ ในการประชุมครั้งหน้า เพื่อจัดทำเป็นระบบข้อมูลร่วมกันให้หน่วยงานอื่นๆ สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้
 
   ขณะเดียวกัน จะมีการประมวลข้อมูลเกี่ยวกับกลไกภาษีและกลไกการเงินการคลังที่เกี่ยวข้องกับมติเพื่อวางมาตรการขับเคลื่อนต่อไป ตลอดจนการชักชวนนักวิชาการที่สามารถมองภาพเรื่องระบบข้อมูล ทั้งด้านการใช้ประโยชน์ การรวบรวม การเฝ้าระวัง ตลอดจนเรื่องชุดสิทธิประโยชน์ และแนวทางการประเมินผล เข้ามาร่วมขับเคลื่อนมติไปพร้อมๆ กัน
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143