ติดอาวุธ ‘ท้องถิ่น’ คุ้มครองสุขภาวะประชาชน ขับเคลื่อนมติ ‘น้ำดื่มปลอดภัย’

น้ำดื่มปลอดภัย

   ระยะเวลาเพียง 2 ปีของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 9.1 น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ภายใต้การสานพลังจากทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้น ก่อกำเนิดดอกผลให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนับตั้งแต่นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เรื่อง น้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน ได้รับฉันทมติจากที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2559 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนั้น
 
   ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าการทำงานอย่างจริงจัง มีส่วนสำคัญต่อการ “ลดความเสี่ยง” ของประชาชนที่จะได้รับจาก “ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ” ได้เป็นอย่างดี
 
   ความร่วมไม้ร่วมมือทั้งจากภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ตลอดจนฟากฝั่งนโยบายที่มองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ นำมาสู่การออกคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สแกนความปลอดภัย “ตู้น้ำหยอดเหรียญ” ทั่วกรุง
 
   ในระดับพื้นที่ กรมอนามัยได้ร่วมกับแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ยกร่าง “เทศบัญญัติควบคุมกิจการผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ พ.ศ. ...” ขึ้น โดยหวังใช้เป็นโมเดลต้นแบบให้แต่ละท้องถิ่น-ท้องที่ นำไปประยุกต์เพื่อสร้างกติกาสำหรับคุ้มครองประชาชน
 
   อย่างไรก็ดี ด้วยข้อติดขัดบางประการที่ทำให้ร่างเทศบัญญัติควบคุมกิจการผลิตน้ำดื่มฯ ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ประกอบความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ตลอดระยะเวลาที่ล่วงเลยมานานกว่า 1 ปี เป็นเหตุให้ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา มีการจัด ประชุมพิจารณาทบทวนปรับปรุงร่างเทศบัญญัติควบคุมกิจการผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ พ.ศ. ... ขึ้นอีกครั้ง เพื่อยกร่างทบทวนปรับปรุงเทศบัญญัติฯ ให้สมบูรณ์และเท่าทันปัจจุบัน ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม
 
   อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานการประชุม กล่าวต่อที่ประชุมว่า การได้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไม่ใช่ความสำเร็จ แต่เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมกันหลายครั้งเพื่อขับเคลื่อนมติฯ นี้
 
   “หนึ่งในหัวใจสำคัญของมติฯ เรื่องนี้คือบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการช่วยดูแลและควบคุมกิจการน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ ซึ่งที่ผ่านมาพวกเราได้ช่วยกันยกร่างเทศบัญญัติฯ โดยมุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือที่จะส่งไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ประโยชน์ต่อไป” อรพรรณ ระบุ
 
   ที่ประชุมเปิดฉากขึ้นด้วยสถานการณ์ความเป็นมาและข้อสรุปจากการประชุมนัดที่แล้ว โดย สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ฉายภาพว่า จากการสุ่มตรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ในกรุงเทพมหานคร จำนวน ๓๒ เขต โดยวิธีการสุ่มสำรวจทางกายภาพตามคู่มือที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัย ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า 95% ของกลุ่มตัวอย่างกว่า 600 ตู้ ไม่มีการจดทะเบียนและไม่ได้คุณภาพ หากมีการขยายพื้นที่ปฏิบัติการไปยังจังหวัดต่างๆ ยังพบข้อจำกัดแนวทางการจัดการของท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กฎหมาย และเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงนำมาสู่การยกร่างเทศบัญญัติฯ
 
   ถัดจากนั้น ที่ประชุมเข้าสู่การนำเสนอการปรับปรุงร่างเทศบัญญัติควบคุมกิจการผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ พ.ศ. ... เพื่อใช้เป็นแนวทางการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ โดย ศุมล ศรีสุขวัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
 
   ศุมล ให้ข้อมูลตอนหนึ่งว่า การขับเคลื่อนมติฯ จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายสาธารณสุขเป็นกลไกหลักและเชื่อมโยงกับส่วนท้องถิ่นโดยมีเครื่องมือสำคัญคือการออกเป็นข้อบัญญัติฯ ซึ่งจะมีผลในทางปฏิบัติจริง โดยสาระสำคัญของการปรับแก้ร่างเทศบัญญัติฯ คือการแก้ไขข้อความในส่วนอำนาจของท้องถิ่น
 
   ที่ประชุมได้เปิดพื้นที่ให้ผู้แทนหน่วยงานและผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ได้ตั้งถาม สอบทาน แลกเปลี่ยนและนำเสนอความคิดเห็นเพื่อ “ตัด-ปรับ-เติม” ถ้อยคำในร่างเทศบัญญัติฯ ให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับอำนาจของหน่วยงานต่างๆ โดยพิจารณาเรียงลำดับไปทีละหมวด รวมทั้งสิ้น 27 ข้อ
 
   ประกอบด้วย หมวด 1 ในการปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลสภาพหรือสุขลักษณะของสถานที่ เครื่องจำหน่ายน้ำดื่มอัตโนมัติ ที่ใช้ดำเนินกิจการและมาตรการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพหมวด 2 การออกใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาต หมวด 3 อัตราค่าธรรมเนียม และหมวด 4 บทกำหนดโทษ
 
   นอกจากนี้ ยังข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ ควรเพิ่มหลักการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง ซึ่งจะทำให้ภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่มีบทบาทสนับสนุนการทำงานของท้องถิ่นด้วย ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากที่ประชุมทั้งหมดนี้ จะถูกนำไปประกอบการปรับปรุงร่างเทศบัญญัติฯ ให้สมบูรณ์ต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143