คุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพว่าด้วยการดำรงชีวิต ในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาพ โดยการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพอย่างสร้างสรรค์

   “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” หรือ Health Impact Assessment (HIA) นับเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ เมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายได้ให้การรับรองสิทธิประชาชนที่จะดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และสามารถร้องขอและมีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะได้
 
   อย่างไรก็ตาม ด้วยหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และศัพท์แสงทางวิชาการ อาจทำให้ผู้คนจำนวนมากยังขาดความรู้ ความเข้าใจ หรือนำเครื่องมือนี้ไปใช้อย่างแพร่หลาย
 
   ห้องเสวนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม “กระบวนเกมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA)” ในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ (รวมถึงในบูธนิทรรศการ HIA ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐) จึงกลายเป็นเวทีที่สร้างความแปลกใจให้กับผู้ร่วมเสวนา ตามติดมาด้วยเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนาน แตกต่างไปจากการบรรยาย HIA ครั้งไหนๆ
 
   “เกมการ์ด HIA เกมบิงโก และ เกมจิ๊กซอว์” สอดแทรกเนื้อหา HIA อย่างกลมกลืน ถูกนำมาใช้อธิบายสาระสำคัญ เปลี่ยนบรรยากาศจากการเลกเชอร์มาเป็นการเรียนรู้แบบมีมิติ เข้าถึงวิถีของคนยุคใหม่มากขึ้น
 
   “การเรียนรู้แบบสั้นๆ กระชับๆ พร้อมเกมที่สนุกสนานเพลิดเพลิน จะเข้าถึงคนในยุคนี้ได้มากกว่า” อ.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) กล่าว ก่อนให้ข้อมูลต่อไปว่า ทีมงานใช้เวลากว่า ๓ เดือน คิดค้น ๒ เกมนี้ขึ้น พร้อมทดลองในหลายเวที เมื่อผลตอบรับดีจึงปรับปรุงให้เล่นง่าย สนุก และได้สาระมากขึ้น
 
   ผู้ร่วมเสวนาจะทอยลูกเต๋าเดินตามเส้น หยิบการ์ดและบิงโก ส่วนเกมจิกซอว์จะนำกระดาษมาต่อให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม ๖ ชิ้น โดยทั้ง ๒ เกมผนวกการเรียนรู้ความหมายและจัดทำ HIA ในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ ๐-๖
 
   เป้าหมายที่สำคัญของกระบวนการ HIA คือการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม และในทุกขั้นตอนเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยขั้นตอนที่ ๑ Public Screening พิจารณาร่วมกันว่าควรทำ HIA หรือไม่ ขั้นตอนที่ ๒ Public Scoping กำหนดขอบเขตและประเด็นที่จะทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ขั้นตอนที่ ๓ Assessing ศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพตาขอบเขตม ประเด็น และแนวทางที่กำหนดไว้ ขั้นตอนที่ ๔ Public Review ทบทวนผลการศึกษา ขั้นตอนที่ ๕ Influencing ผลักดันข้อเสนอสู่กระบวนการตัดสินใจ ขั้นตอนที่ ๖ Public Monitoring and Evaluation ติดตามตรวจสอบว่านโยบาย แผนงาน หรือโครงการเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่ ส่งผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพ
 
   “ที่ผ่านมา HIA ถูกมองว่าเป็นเรื่องยาก แต่การได้เรียนรู้ผ่านเกม ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายกว่า ทำเรื่องยากให้เข้าใจง่าย ทำเรื่องเครียดให้เป็นเรื่องสนุก ต้องยอมรับว่าคนคิดเกมเก่ง ที่ดึงประเด็นของ HIA มาสั้นๆ ทำให้เข้าใจง่าย” ว่าที่ร้อยตรีหญิงกนกวรรณ ด่านส่งเสบียง นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมเพื่อนๆ เล่าบรรยากาศการเล่นเกมให้ฟัง
 
   ขณะที่ วิเศษ สุจินพรัหม ที่ปรึกษาเครือข่ายรักศรีบัวบาน บ้านทุ่งยาว ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งร่วมเล่นเกมตั้งแต่ต้นจบเพื่อศึกษาเครื่องมือ HIA และจะนำกลับไปใช้ในพื้นที่ เนื่องจากกำลังมีโครงการสร้างโครงข่ายไฟฟ้าของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ไกลจากชุมชน ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าจะส่งผลกระทบ และกังขาว่าอาจมีโรงไฟฟ้าขยะตามมาด้วย เพราะ กฟผ. เตรียมซื้อที่ดินถึง ๑๘๐ ไร่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของ กฟผ. ไม่สามารถตอบข้อสงสัยของชาวบ้านได้ชัดเจน
 
   วิเศษ มองว่า ประโยชน์ที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ แต่ขึ้นกับใครเป็นคนทำ HIA และทำเพื่ออะไรด้วย ถ้าให้บริษัทเอกชนมาดำเนินการคงต้องเอนเอียงไปทางเจ้าของโครงการ ทางชุมชนจึงเตรียมสร้างเครือข่ายรุ่นใหม่ในพื้นที่ให้เข้ามาทำ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมการ เพื่อให้เกิดการทำงานบนฐานข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมว่า โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบหรือไม่ อย่างไร โดยเป็นการทำงานบนพื้นฐานการใช้ข้อมูลทั้งในเชิงวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์ของชุมชน
 
   “เราต้องการใช้กลไก HIA สร้างการเรียนรู้และตระหนักไปยังชาวบ้าน ให้มีส่วนร่วมปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ กระตือรือร้น ลุกขึ้นมาทักท้วงก่อนก่อสร้าง เพราะถ้าปล่อยถึงตอนนั้นคงทำอะไรได้ไม่มาก ซึ่ง HIA มีข้อดี คือ สามารถประเมินผลกระทบก่อนโครงการเกิดขึ้นด้วยแบบจำลอง (Scenario) ได้”
 
   ความกระตือรือร้นของชาวศรีบัวบานของวิเศษ ที่ต้องการนำกระบวนการ HIA ไปใช้ในพื้นที่ ถือว่า บิงโก! ตรงตามวัตถุประสงค์ของ อ.สัญชัย ที่อยากเห็นเกมจุดประกายให้ผู้คนสนใจเครื่องมือนี้
 
   “อาจจะไม่เข้าใจทั้งหมดในคราวเดียว แต่ชุมชนที่ต้องการนำไปใช้จะศึกษาเรียนรู้ต่อ และปรึกษาเจ้าของเครื่องมือ คือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สะท้อนให้เห็นคุณค่าและความสำคัญที่ชุมชนมีให้กับการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ส่วนนี้ มีข้อเสนอแนะให้ สช. มีการทำงานเชิงรุก คือ มีการลงพื้นที่เพื่อเผยแพร่ข้อมูล สร้างความเข้าใจ และการตระหนักถึงความสำคัญของการนำ HIA ไปใช้ ไม่ใช่ปล่อยหลักเกณฑ์และวิธีการทำ HIA เป็นเพียงคัมภีร์ในกระดาษ”
 
   นอกจากเกมแล้ว อ.สัญชัย ยังมีแนวคิดพัฒนา แอพลิเคชั่น HIA เพื่อให้เข้าถึงคนส่วนใหญ่ซึ่งใช้สมาร์ทโฟน โดยเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเข้าถึงเครื่องมือและจุดความสนใจตามแนวคิด “เปิดหู เปิดใจ เปิดข้อมูล” และขยายผลตามแนวทาง “รู้ ทำ นำไปใช้ และบอกต่อ” ถึง ๖ กระบวนการของการทำ HIA
 
   ผศ.อังศนา บุญธรรม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) แนะว่า ชาวบ้านสามารถนำ HIA มาประยุกต์เพื่อประเมินผลกระทบโดยชุมชนเองหรือ CHIA แล้วนำข้อมูลเสนอไปยังผู้ตัดสินใจให้เห็นปัญหาอีกด้าน เพราะบางโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าขนาดต่ำกว่า ๑๐ เมกะวัตต์ กฎหมายระบุว่าไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ
 
   ทั้งนี้ ชุมชนสามารถทำ CHIA ได้ด้วยการเก็บข้อมูลในอดีตและปัจจุบันมาเปรียบเทียบ เช่น เคยอยู่กันมาอย่างไร ธรรมชาติเคยเป็นอย่างไร เพื่อวิเคราะห์ถึงอนาคตว่าเมื่อโครงการเกิดขึ้น จะมีสิ่งใดเปลี่ยนไปบ้าง อาจใช้เครื่องมือเสริม อาทิ “ธรรมนูญสุขภาพ” ในพื้นที่ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของคนในชุมชนที่จะกำหนดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง
 
   “ในยุคสมัยนี้ ยากที่จะบอกว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นรอบๆ บ้านเรา สักวันหนึ่งเชื่อว่าต้องมีบางอย่างมากระทบไม่มากก็น้อย ดังนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้เครื่องมือ HIA นี้ไว้ โดยไม่ต้องรอจนโครงการปักเสาเข็มแล้ว แต่ทุกชุมชนสามารถนำเครื่องมือนี้มาประยุกต์ใช้ได้ทันที” ผศ.อังศนา กล่าวทิ้งท้าย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143