สช. ผนึก 6 หน่วยงานเปิด ‘โซเชียล ฟอรั่ม’ สานพลังขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะ

   สช. เปิดม่านเวที ‘โซเชียลฟอรั่ม’ สร้างกลไกใหม่จับมือ ๖ หน่วยงาน ขับเคลื่อนและหาทางออกนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม นำร่อง ๒ ประเด็นสำคัญ การจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม และ เกษตรและอาหารปลอดภัย หวังให้เกิดการทำงานข้ามหน่วยงานฉันท์มิตรและมีประสิทธิภาพ
 
   วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม (Social Forum) ครั้งที่ ๑ “พลังนโยบายและความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๖ กระทรวงเข้าร่วม ณ ห้องประชุมดุสิตธานี ฮอลล์ โรงแรมดุสิตธานี เขตบางรัก กรุงเทพฯ
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แถลงถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า การจัดประชุมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ “โซเชียล ฟอรั่ม” ครั้งที่ ๑ มีจุดเริ่มต้นจากการทำงานของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ สาธารณสุข และสังคม จึงต้องอาศัยความร่วมมือ แบบข้ามหน่วยงาน และข้ามภาคส่วน เพื่อให้ตอบสนองต่อปัญหา ความต้องการของประชาชน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) นำไปสู่การปฏิบัติ โดยสช. จะทำหน้าที่ “สานพลัง” ให้เกิดการพัฒนาสุขภาวะของสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง
 
   “โซเชียลฟอรั่ม เป็นเวทีปรึกษาหารือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ โดยใช้ความรู้ทางวิชาการ ข้อมูล และกฎหมายต่างๆ พูดคุยกันบนพื้นฐานข้อเท็จจริง จากนโยบายของภาครัฐ หรือมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนแบบไม่เป็นทางการ ฉันท์พี่น้อง ไม่มีการตำหนิกัน แต่มุ่งให้กำลังใจ เพราะเชื่อว่าภารกิจข้างหน้าค่อนข้างยากลำบาก โดยมีเป้าหมายให้ทุกฝ่าย win-win ร่วมกัน ซึ่งสุดท้ายผู้ได้ประโยชน์คือประชาชน”
 
   นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า สช. เป็นองค์กรขนาดเล็ก มีหน้าที่เชื่อมโยงให้เกิดการบูรณาการการพัฒนานโยบายสาธารณะ แต่หากมีประเด็นที่ได้จากการหารือแล้วต้องอาศัยกลไกการทำงานอย่างต่อเนื่อง ก็พร้อมส่งต่อไปยัง สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย แต่สำคัญคือ ต้องมีองค์กรมาถือธงนำเป็นหลัก และสร้างพื้นที่รูปธรรมความสำเร็จที่เป็นต้นแบบเพื่อการถอดบทเรียนและสร้างองค์ความรู้เพื่อขยายผลต่อไป
 
   สำหรับ ๖ กระทรวงที่เข้าร่วมเวทีโซเชียลฟอรั่มครั้งนี้ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม
 
   นายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบดูแลทั้งในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น พร้อมให้การสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะที่มีแผนแม่บทระดับชาติอยู่แล้ว ภายใต้กลไกประชารัฐ เพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนการทำงานก้าวหน้าต่อไป
 
   นางสาวอโณทัย ไชยแสนชมภู ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายเกษตรปลอดภัยและยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติที่ผ่าน ครม. แล้ว โดยวางเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มอีก ๖ แสนไร่ในปี ๒๕๖๔ ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมขับเคลื่อน โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง
 
   พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจัยทางสังคมต่างๆ ในปัจจุบัน เป็น ปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดสุขภาพ (social determinant of health) การสร้างความร่วมมือเรื่องนี้จึงสอดคล้องกับหลักการ “สร้างนำซ่อม” และเชื่อว่าการริเริ่มเวทีโซเชียลฟอรั่ม จะก่อให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต
 
   นางไพรวรรณ พลวัน ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม. มีภารกิจในการดูแลกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทุกช่วงวัย ทั้งเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ดังนั้น การทำงานข้ามภาคส่วนมีความสำคัญ ซึ่งการทำงานของ พม. จะเน้นแนวราบ ไม่ใช่แนวดิ่งเหมือนที่ผ่านมา ร่วมกับภาคีและภาคประชาสังคม ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ ขับเคลื่อนให้ปัญหาสังคมลดน้อยลง สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในที่สุด
 
   นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันมีแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ที่ต้องการความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน อย่างกว้างขวาง ป้องกันผลกระทบทั้งทางสุขภาพกายและจิตใจของประชาชน เพราะหลายครั้งบานปลาย กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐ และเอกชนกับชุมชน ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น
 
   นายนิพนธ์ บุญเพ็ง กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงมีนโยบาย ป้องกันไม่ให้ขยะอุตสาหกรรมไปปะปนขยะชุมชนอยู่แล้ว ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนการทำงานได้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
 
   โดยในการประชุมโซเชียลฟอรั่มครั้งนี้ ได้แบ่งเวทีหารือห้องย่อย ๒ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจัดการขยะชุมชนแบบมีส่วนร่วม และเกษตรและอาหารปลอดภัย มีหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก
 
   นายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สรุปประเด็นเรื่อง “การจัดการขยะชุมชนแบบมีส่วนร่วม” ว่า โรดแมปการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ปัจจุบันมีแผนแม่บทจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๔ โดยมุ่งเน้นการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนสำคัญที่สุด ขณะที่การเผากำจัดไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการแก้ไขปัญหา จึงต้องอาศัยบูรณาการครบวงจร ทั้งความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย การทำให้มีกลไกบูรณาการการขับเคลื่อนข้ามหน่วยงาน การสร้างมาตรการจูงใจให้ชุมชนมีส่วนร่วม รวมถึงการหาพื้นที่ตัวอย่างนวัตกรรมจัดการขยะ
 
   ขณะที่ นางสาวอโณทัย ไชยแสนชมภู ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปประเด็นเรื่อง “เกษตรและอาหารปลอดภัย” ว่า ปัจจุบันมีแผนระดับชาติของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้เกิดเกษตรกรรมที่ปลอดภัย แต่จะต้องตอบโจทย์ของพื้นที่และชุมชนได้จริงๆ นอกจากนั้นยังมีการจัดทำกฎหมายใหม่เพื่อจัดการสารเคมีเป็นการเฉพาะ แยกออกจากเดิมอีกด้วย รวมถึงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเกษตรและอาหารปลอดภัยที่เป็นภาพรวมของประเทศ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143