ทุกภาคส่วนสานพลังสร้างสุขภาวะคนไทย พร้อมขับเคลื่อน ‘ธรรมนูญระบบสุขภาพฉบับใหม่’

    ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั่วประเทศกว่า ๓๐๐ คน หนุนพลังขับเคลื่อน “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒” สู่ภาคปฏิบัติ เชื่อมพื้นที่และทุกกระทรวงจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานที่ห่วงใยสุขภาวะประชาชนเป็นสำคัญ เลขาธิการ คสช. ย้ำ เร่งสร้างความเข้าใจสังคมและดำเนินการใน ๔ แนวทาง ขณะที่ตัวแทนท้องถิ่นมั่นใจ อบต. ๗ พันแห่งทั่วประเทศพร้อมก้าวไปด้วยกัน
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดการประชุม เสวนาเปิดเล่ม : ธรรมนูญระบบสุขภาพสู่ยุคประเทศไทย ๔.๐ เมื่อวันที่ ๒๙-๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศมาร่วมงานกว่า ๓๐๐ คน
 
   นพ. พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุม ‘ธรรมนูญระบบสุขภาพ สู่ยุคประเทศไทย ๔.๐’ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อเนื้อหาสาระของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ และให้ทุกภาคส่วนเห็นภาพพึงประสงค์ของระบบสุขภาพร่วมกัน เพื่อที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำธรรมนูญระบบสุขภาพไปใช้เป็นกรอบทิศทางในการดำเนินงานด้านสุขภาพในระดับต่างๆ
 
   “คณะกรรมการทบทวนร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติที่มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน ได้ทำงานอย่างหนักในการทบทวน กลั่นกรอง ยกร่าง รับฟังความคิดเห็น จนสำเร็จได้ร่างธรรมนูญฉบับใหม่ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจุบัน ธรรมนูญระบบสุขภาพฉบับที่ ๒ ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติรับทราบแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
 
   นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ บทบาทของ สช. จะเร่งดำเนินการใน ๔ แนวทางเพื่อให้ธรรมนูญฯ เกิดผลในทางปฏิบัติ ได้แก่ ๑.ผลักดันการใช้ธรรมนูญระบบสุขภาพเป็นกรอบนโยบายสาธารณะของทุกกระทรวง และองค์กรภาครัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย แผนงาน งบประมาณ หรือการออกกฎหมายต่างๆ ๒.ขับเคลื่อนให้ภาพที่พึงประสงค์ของระบบสุขภาพในธรรมนูญฯ เกิดขึ้นจริงโดยไม่ใช้กฎหมายบังคับ โดยมุ่งเน้นการสร้างเจตจำนงสาธารณะหรือฉันทมติสังคม ให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้เป็นกรอบในการวางแผนพัฒนาสร้างสังคมสุขภาวะ ๓.สนับสนุนให้พื้นที่หรือชุมชนนำธรรมนูญฯ ไปใช้เป็นเครื่องมืออ้างอิงในการทำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่หรือชุมชนหรือประเด็นที่เหมาะสมตามบริบทของตน เช่น ธรรมนูญชุมชน โรงเรียน โรงงาน ชนเผ่า รวมถึงการนำธรรมนูญฯ ไปเชื่อมร้อยกับกองทุนสุขภาพตำบลของ สปสช. และกองทุนสุขภาพชุมชนของ กทม. อีก ๒,๐๐๐ แห่งในอนาคตด้วย โดย สช. สามารถสนับสนุนองค์ความรู้ในกระบวนการจัดทำ และ ๔.สื่อสารให้เกิดความเข้าใจของสังคมมากยิ่งขึ้น โดย สช. จะดำเนินการจัดทำสื่อสาธารณะ เช่น การ์ตูน คู่มือ อินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ทุกภาคส่วนรวมถึงพื้นที่สามารถนำธรรมนูญฯ ไปสื่อสารและใช้ได้ต่อไป
 
   “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติเป็นกติกาใหญ่ แต่ธรรมนูญที่กินได้อยู่ที่ระดับตำบล ระดับพื้นที่ ซึ่งภาคีต้องจับมือร่วมกันให้เกิดความพร้อมของธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ โดยเฉพาะธรรมนูญสุขภาพระดับตำบล ที่ควรพัฒนาฐานให้แน่นแล้วค่อยขยายไปยังธรรมนูญสุขภาพระดับอำเภอหรือจังหวัดต่อไป”
 
   นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาสุขภาวะครอบคลุมการทำงานของหลายหน่วยงานและองค์กรในหลายระดับ ไม่ใช่เพียงกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ยังรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงธรรมนูญฯ ไปกับการพัฒนาส่วนอื่นๆ ด้วย อาทิ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ระบบสุขภาพอำเภอ (DHS: District Health System) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี เป็นต้น
 
   “ธรรมนูญระบบสุขภาพฉบับนี้มุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือที่หลากหลาย ด้วยทัศนคติในเชิงบวก และความเป็นเจ้าของของทุกฝ่าย เพื่อมุ่งสู่ระบบสุขภาพที่ก่อให้เกิดความเสมอภาค และความยั่งยืน”
 
   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย มองว่า ธรรมนูญระบบสุขภาพไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อเป็นกรอบ ทิศทาง และกติกาในการทำงานของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นนวัตกรรมให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปปรับใช้สำหรับการทำงานการส่งเสริมสุขภาพ เป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมทางสังคม ทำให้เกิดธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ในการวางกฎเกณฑ์ กติกา ข้อตกลง และทิศทางการพัฒนาสุขภาวะของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน
 
   “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพเปรียบเหมือนประกายไฟแห่งนวัตกรรมทางสังคม ที่ได้แพร่ขยายเป็น ไฟลามทุ่ง เกิดเป็นธรรมนูญสุขภาพพื้นที่กระจายไปหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ ปรากฏภาพที่งดงาม คือ นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพโดยชุมชนมีส่วนร่วม และการพัฒนาประชาธิปไตยแบบส่วนร่วมระดับดับพื้นที่” สุดท้าย แนวทางการผลักดันขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลประโยชน์ ควรยึดหลัก ๓ ช. คือ ๑.เชื่อมโยง - ด้วยการวิเคราะห์เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ แผนยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และแผนอื่นๆ เพื่อค้นหาข้อต่อ จุดรวม จุดต่าง ๒.ช่วยกัน - แสวงหากลวิธีเชิงรุกร่วมกันให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน และ ๓.ชื่นชม - การทำงานยุคใหม่ต้องอาศัยการสานเสริมเติมเต็มกันและกัน เรียนรู้ เกื้อกูล ชื่นชมยกย่อง มากกว่าการบังคับ การเคลื่อนไปในแนวทางนี้จะช่วยสร้างสุขภาวะไปตลอดเส้นทาง หนุนเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และบรรลุเป้าหมายประเทศไทย ๔.๐
 
   นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ สามารถนำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ นี้ ไปปรับใช้ได้ทั้งหลักการและภาพที่พึงประสงค์ โดยขณะนี้ อบต. ๗,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศก็ใช้แนวทาง “สร้างนำซ่อม” ป้องกันโรคต่างๆ อยู่แล้ว ส่วน อบจ.สุโขทัยได้นำการสร้างความร่วมมือแบบ ๓ พี่น้อง คือ อบต. เทศบาล และ อบจ. มาใช้เพื่อขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพื้นที่และมติสมัชชาสุขภาพอีก ๒๙ ประเด็น อาทิ การลดอุบัติการณ์โรคไม่ติดต่อ การลดอุบัติเหตุ การตั้งเป้าหมายเป็นเมืองคาร์บอนต่ำในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ เป็นต้น
 
   นางสาววรวรรณ พลิคามิน ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔) จะครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพ โดยมุ่งสู่เป้าหมายหลัก คือ ให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีตลอดช่วงชีวิต ลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ทั้งปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการเงินการคลังด้านสุขภาพ การลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ประชากร ๔๐% ข้างล่างเข้าถึงระบบสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และการกระจายบุคลากรทางสุขภาพไปสู่พื้นที่ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ กับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ว่ามี ๔ ประการ (๔H) ที่ต้องเร่งดำเนินการในระยะ ๕ ปีนี้ ได้แก่ Health in all policies คือทุกภาคส่วนต้องร่วมกันกำหนดนโยบายสาธารณะที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสุขภาพ, Health literacy หรือความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ, Health financing แก้ปัญหาการเงินการคลังด้านสุขภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐให้สมดุล เหมาะสม และมุ่งไปที่การป้องกันมากกว่ารักษาโรค และสุดท้ายคือ Healthy aging คือการพัฒนาเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย เช่น การพัฒนาเมือง ระบบบริการสาธารณะ ซึ่งทั้งหมดนี้ ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาสังคม ต้องเร่งขับเคลื่อนร่วมกัน นพ. ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวทิ้งท้ายในการประชุมไว้ว่า “ถึงเวลาแล้วที่ ทุกภาคส่วน ทุกระดับ ต้องเดินหน้าและพัฒนา ไปสู่สังคมเข้มแข็ง ร่วมกันและด้วยกัน “We go and grow stronger together.”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143