คจ.สช. จุดประกาย ‘สุขภาวะเด็กปฐมวัย’ ผลักดันสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2559

   ที่ประชุม คจ.สช. เห็นชอบระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ปลายปีนี้ รวม ๓ ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ และมาตรฐานน้ำดื่มที่ปลอดภัย พร้อมนำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ของยูเอ็นมาร่วมขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ
 
   เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ มีการประชุม คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙ (คจ.สช.) โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ และกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก
 
   นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธาน คจ.สช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เตรียมความพร้อมการจัด สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งในปีนี้ คจ.สช. ได้กำหนดประเด็นหลัก (Theme) ในการจัดงาน ได้แก่ “ธรรมนูญระบบสุขภาพ สู่สุขภาวะที่ยั่งยืน” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่เครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยขณะนี้ ธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และกำลังจะมีการประกาศใช้เร็วๆ นี้
 
   นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ในส่วนของระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ทาง คจ.สช. ได้เห็นชอบระเบียบวาระเพิ่มเติมอีก ๑ ประเด็น ได้แก่ การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม ตามที่คณะอนุกรรมการวิชาการที่มี นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร เป็นประธาน ได้นำเสนอ นอกเหนือจากประเด็นที่ คจ.สช. ได้เห็นชอบไปแล้วจำนวน ๒ วาระ ได้แก่ น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน และ ระบบสุขภาพเขตเมือง : การจัดการที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาวะสำหรับชุมชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งปรับเปลี่ยนชื่อระเบียบวาระใหม่เป็น การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ
 
   “การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ ช่วงปลายปีนี้ จะมีระเบียบวาระเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น ๓ ประเด็น ซึ่งหลังจากนี้ คณะอนุกรรมการวิชาการจะไปพัฒนาเอกสารร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความสมบูรณ์ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อนำเข้าสู่การหาฉันทมติในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ยกระดับเป็นนโยบายสาธารณะ แก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืนต่อไป”
 
   สาระสำคัญของทั้ง ๓ ประเด็น ได้แก่ การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ เป็นการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยที่ไม่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดี จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัย
 
   ประเด็น น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน มุ่งเน้นให้เกิดมาตรฐานน้ำดื่มที่ดีต่อสุขภาพ และบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)สำรวจพบว่ามีผู้ประกอบการและสถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มจำนวนมากไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสุขอนามัย
 
   สำหรับประเด็นล่าสุด การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม เป็นการสานพลังจัดทำวาระแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยรอบด้านอย่างเป็นองค์รวม ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว ๒๐ ปี บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น เพื่อสร้างพัฒนาการที่ดีให้แก่เด็กปฐมวัย อาทิ การส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กด้วยการอ่าน การเล่านิทาน การฝากครรภ์เร็ว การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และแก้ไขภาวะโภชนาการของมารดาและเด็กปฐมวัย เป็นต้น
 
   “กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ จะมีการสื่อสารทั้งเรื่อง ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับใหม่และ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเนื้อหามีความสอดคล้องกับแนวทางการสร้างสังคมสุขภาวะเพื่อนำไปสู่ความตื่นตัวทุกภาคส่วน และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนานโยบายสาธารณะให้มากยิ่งขึ้น”
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความสำคัญของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ คือ แต่ละมติที่ออกมาจะมีการขับเคลื่อนไปสู่รูปธรรมของการดำเนินงานและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่ การพัฒนาระเบียบวาระ การดำเนินการ (Implement) และการประเมินผล โดยจะมีการบูรณาการการทำงานควบคู่ไปกับ “แผนหลัก ๕ ปี ฉบับที่ ๓” (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔) ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็น องค์กรสานพลังพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่ได้รับการยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ พร้อมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้างภายในองค์กรใหม่เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143